ไม่พบผลการค้นหา
สรุปรายละเอียดคดี คำพิพากษา ข้อมูลมหภาค บทบาททีดีอาร์ไอ ผู้ค้านหลักที่องค์กรอิสระหยิบใช้ รวมถึงข้อสังเกตนักวิชาการเกี่ยวกับบทบาทศาลในการเมืองไทย
จำนำข้าว_1.jpg

‘ประชานิยมชาวนา’ ชนชั้นอื่นก่ายหน้าผาก

1.   พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามที่ได้หาเสียง เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด ราคา 15,000-20,000 บาทต่อตัน มีเกษตรกรลงทะเบียนเข้าร่วม 3.2 ล้านครัวเรือน ดำเนินการได้ยาวเกือบ 3 ปี (5 ฤดูกาลผลิต)  

2.     อันที่จริงรัฐบาลยุคยิ่งลักษณ์มีนโยบายหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับแรงงานและเกษตรกร เช่น การขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาทต่อวันหลังจากขึ้นกระปริบกระปรอยมานาน การวางฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรีที่ 15,000 บาทต่อเดือน และการอุดหนุนภาคเกษตร โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งมีจำนวน 3.7 ล้านครัวเรือน หรือราว 15 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของประชากร

3.     เป็นที่ถกเถียงกันมากว่านโยบายนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะใช้เงินจำนวนมาก ครม.อนุมัติกรอบไว้ราว 500,000 ล้านบาท เทคโนแครตจำนวนมากกังวลเรื่องวินัยของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนโยบาย ‘ประชานิยม’

4.     เสียงค้านที่สำคัญ คือ TDRI (มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ซึ่งทำวิจัยวิพากษ์นโยบายนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ ‘งานวิจัย’ ถูกใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีอาญากับการดำเนินนโยบายทางการเมือง (ก่อนหน้านั้นงานวิจัย TDRI มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร แพ้คดีกรณีใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะการดำเนินนโยบายสาธารณะเช่นโครงการจำนำข้าว) อ่านงาน TDRI ที่ https://tdri.or.th/2016/12/corruption-in-the-paddy-pledging-scheme-2/ 

5.     ขณะที่พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เป็นนโยบายตั้งใจอุดหนุนชาวนา-ขาดทุนไม่เป็นไร และเห็นว่าการกินดีอยู่ดีของชาวนาทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น  (รายละเอียดอยู่ในแผ่นถัดไป)

6.     คดีจำนำข้าว แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก

6.1  ### การระบายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี

บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์และพวก ซึ่งเป็นความผิดฐานทุจริตไม่เป็นไปตามสัญญา และมีการแก้ไขสัญญา 4 ฉบับ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองพิพากษาจำคุกจำเลยรวม 15 ราย นำโดยนายบุญทรงและนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นเวลาตั้งแต่ 4-48 ปี ยกฟ้องจำเลย 8 ราย (25 สิงหาคม 2560) สำหรับบุญทรงนั้นโทษจำคุกหนักที่สุด ศาลลงโทษจำคุกเป็นเวลาถึง 48 ปีและคดีสิ้นสุดแล้ว (6 กันยายน 2562)

6.2  ### การปล่อยปละ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปล่อยให้บุญทรงและพวกทุจริต ในฐานะเป็นนายกฯ และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จึงต้องรับผิดชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี (27 กันยายน 2561)

6.3  ### กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้สินไหมทดแทนโครงการจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ได้ฟ้องต่อศาลปกครองว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่มิชอบ ศาลปกครองพิพากษาให้ไม่ต้องชดใช้ (2 เมษายน 2564) ส่วนกรณีของบุญทรงและพวกที่ยื่นต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ชดใช้ 15,000 ล้าน ศาลปกครองยกคำร้อง (29 มีนาคม 2564) 

จำนำข้าว_2.jpg

บทบาทองค์กรอิสระ ตุลาการ และ กปปส.

หากพิจารณาไทม์ไลน์การตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบ จะเห็นความสัมพันธ์ของ ‘เวลา’ และ ‘การเคลื่อนไหว’ ขององคาพยพต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

ปลายปี 2554 รัฐบาลเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ทั้ง สตง. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เริ่มส่งหนังสือท้วงติง ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2554 ชนิดยังไม่ได้ทันเริ่มดำเนินการ และส่งซ้ำอีกเป็นระยะ

15 ต.ค.2555 สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว

3 ธ.ค.2555 วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ ป.ป.ช. ว่า นายกฯ รวมถึงบุญทรงและผู้เกี่ยวข้องทุจริตในโครงการจีทูจี

29 ธ.ค.2555 มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ยื่นหนังสือ ป.ป.ช ขอให้ตรวจสอบโครงการจำนำข้าว

4 ธ.ค. 2555 ป.ป.ช. มีมติว่า คำกล่าวหาในเรื่องระบายข้าวแบบจีทูจี มีหลักฐานเพียงพอดำเนินการไต่สวนได้ เปิดการไต่สวนบุญทรงและพวกตั้งแต่ 11 ธ.ค.พบว่ามีผู้เกี่ยวข้องรวม 111 ราย

เดือน พ.ย.2556 กปปส.ก่อรูป ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และขยับสู่ประเด็นอื่นๆ รวมถึงกรณีจำนำข้าว

9 ธ.ค.2556 ยิ่งลักษณ์ ยุบสภา

16 ม.ค.2557 วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการไต่สวนทำหนังสือถึง ประธาน ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนนายกฯ เพราะเป็นประธาน กขช. ที่ประชุมมีมติรับเรื่องและดำเนินการ

17 ม.ค.2557 วุฒิสมาชิกเข้าชื่อมีมติให้ถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง และให้ ป.ป.ช.ตั้งคณะไต่สวน

20 ม.ค. 2557 กปปส. บุกธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ป้องกันไม่ให้รัฐบาลนำเงินของธนาคารไปใช้จ่ายให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว

7 พ.ค.2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เป็นการเฉพาะตัว กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี เลขา สมช.

8 พ.ค.2557 คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. สรุปสำนวนคดีส่งให้ที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ขณะนั้นจะอยู่ในตำแหน่งรักษาการแล้ว โดยข้อหา คือ 

"ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 ซึ่งมีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไปได้" 

22 พ.ค.2557 รัฐประหาร โดย คสช.

17 ก.ค.2557 ป.ป.ช. ส่งรายงานการไต่สวนพร้อมเอกสารมายังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีจำเลย

3 ก.ย.2557 อัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีถึง ปปช พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. จากนั้นจึงส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

27 ก.ย.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปี 

จำนำข้าว_3.jpg

“ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไปค่ะ”

ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการ โยงคดีบุญทรงกับยิ่งลักษณ์

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยแถลงต่อสู้คดี สรุปความไว้ได้ ดังนี้

  • คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มต้นกล่าวหาด้วยพยานเอกสาร 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วันเป็นการเร่งรีบชี้มูลทั้งที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่น (บุญทรง) ในเรื่องทุจริตการระบายข้าวซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการยังไม่มีข้อสรุป
  • ประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้ยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า ป.ป.ช. และโจทก์ ต้องมีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสียหายนั้นมากถึงขนาดที่รัฐบาลต้องยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าว
  • การฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช. โดยฟ้องก่อนแล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง พบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าวและการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำและขั้นตอนการระบายข้าว ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงาน แต่โจทก์กลับนำมากล่าวหา

1)     “รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ” ที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งเกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี คณะอนุกรรมการจัดระดับเกรดข้าวเป็น เกรด A B C เพื่อดำเนินการระบายข้าวโดยไม่เคยมีมาตรฐาน ไม่เคยมีรัฐบาลใดดำเนินการเช่นนี้มาก่อน การจัดระดับคุณภาพข้าวเป็นการสร้างเรื่อง สร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่จงใจให้เห็นว่าไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้าวในสต็อกเพื่อเอาผิดในคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง แต่ในที่สุด การจัดเกรดข้าวก็ล้มเหลวจนทำให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธานกรรมการ นบข. เสนอให้ยกเลิกระบบแบ่งเกรดกลับมาใช้วิธีการประมูลข้าวแบบขายยกคลังเช่นที่ทุกรัฐบาลเคยดำเนินการมา

2)     มีการอ้างเรื่อง การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อใช้เป็นพยานเอกสาร ไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทั้งที่การสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงมีข้อพิรุธเสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้า สอดคล้องกับข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่มีต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดที่ระบุว่า “โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม” ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข.ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

3)     เรื่องการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น มีการชี้มูลความผิดหลังจากที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ แล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าว มาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดียิ่งลักษณ์ ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกฯ อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองสั่งให้ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายถึง 35,000 ล้านบาท และได้ใช้อำนาจพิเศษ ม. 44 สั่งกรมบังคับคดียึดและถอนเงินในบัญชีของยิ่งลักษณ์ไปหมด

  • ต่อคำถามว่า ในฐานะนายกฯ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น  

1)     มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่ละด้าน กว่า 13 คณะ เพื่อ “การบูรณาการ” การทำงาน แต่ละหน่วยล้วนมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานปฏิบัติอย่างระดับกระทรวง กรม ทุกหน่วยล้วนไม่เคยมีข้อท้วงติงหรือให้ยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ

2)     ทั้งยังได้มอบหมายให้บุคคลระดับรองนายกฯ  และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานในการประชุม กขช. แต่ละครั้ง เพราะจะใกล้ชิดติดตามงานได้ดีกว่านายกฯ ที่มีภารกิจอีกมากมาย หากมีประเด็นพิจารณาใดย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จะมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีและนายกฯ เพื่อพิจารณา

3)     ข้อเสนอแนะและข้อท้วงติงของ ป.ป.ช. สตง. ทางนายกฯ และครม.ไม่ได้ละเลยเพิกเฉย ได้ส่งไปให้ กขช. คณะอนุกรรมการต่าง ๆ และหน่วยงานปฏิบัติที่ ทั้งยังได้มีมติแต่งตั้ง เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าวฯ เพิ่มเติม

4)     นอกจากนี้ ครม.ได้ป้องกันความเสียหาย โดยฤดูกาลผลิต 2556/57 มีการจำกัดวงเงินการรับจำนำ ไม่เกินรายละ 500,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับ และลดราคารับจำนำจากตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 13,000 บาท อีกทั้งยึดมั่นตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 500,000 ล้านบาทตามมติครม.10 มิถุนายน 2556 รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในการป้องกันการทุจริตในการระบายข้าวให้เข้มงวดมากขึ้น

5)     ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนพฤศจิกายน 2555 ก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพาณิชย์เพื่อให้การตรวจสอบทำได้เต็มที่ มีการปรับกลยุทธ์ในการระบายข้าว โดยเพิ่มช่องทางระบายข้าว และให้มีการประมูลข้าวภายในประเทศมากขึ้น ในขณะนั้น ป.ป.ช. ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการระบายข้าว (กรณีบุญทรงและพวก) ใช้เวลาสอบสวนถึง 2 ปีเศษ เพิ่งมาชี้มูลความผิดเมื่อ 20 มกราคม 2558 หลังจากที่ตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วร่วมปี

“ดังนั้น การที่โจทก์นำข้อมูลและหลักฐานในสำนวนของบุคคลอื่นเกี่ยวกับเรื่องการระบายข้าวที่ไต่สวนแล้วเสร็จ หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานานร่วมปี ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น มาปรักปรำว่าดิฉัน ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จึงไม่เป็นธรรมต่อดิฉัน”

“ดิฉันได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้ถึง 3 ครั้ง เพื่อโต้แย้งและร้องขอสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จำเลยในคดีอาญาต้องได้รับ ในการที่จะขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 แต่ศาลได้ยกคำร้องของดิฉัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัยสิทธิ์ของจำเลยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ทำให้ดิฉันมีข้อสงสัยว่าจะยึดสำนวน ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนดหรือยึดหลักฐานใหม่กว่า 60,000 แผ่น นอกสำนวน ป.ป.ช. อย่างไรก็ตามดิฉันขอวิงวอนต่อศาลที่เคารพได้โปรดอำนวยความยุติธรรม โดยมิต้องพิจารณาเอกสารกว่า 60,000 แผ่น ที่โจทก์เพิ่มเข้ามาในสำนวนเพื่อเป็นผลร้ายต่อดิฉัน”

จำนำข้าว_4.jpg

ศาลปกครองสั่ง ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ 35,000 ล้าน

เนื้อหาของคำสั่งศาลปกครองเมื่อ 2 เมษายน 2564 โดยสรุปมีดังนี้

  • ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา นายกฯ ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้ การดำเนินการมีการตั้งอนุกรรมการ 12 คณะ นายกฯ เพียงกำกับดูแลนโยบายระดับมหภาค มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่อาจรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
  • เมื่อมีการทุจริต ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จึงถือได้ว่า มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์
  • สตง.และ ป.ป.ช.ทำหนังสือถึงรัฐบาล เป็นเพียงข้อเสนอแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป มิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่นายกฯ ต้องปฏิบัติตาม
  • ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักนายกฯ และกระทรวงการคลัง ให้การโดยสรุปว่า "แต่โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า นายกฯ เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด ...แต่ถือว่าในฐานะผู้บังคับบัญชามีส่วนในการอนุมัติโครงการและเบิกจ่ายเงิน จึงมีสัดส่วนความรับผิดในแต่ละขั้นตอนร้อยละ 10 รวมเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย 175,586,365,141 บาท จึงต้องรับผิดเป็นเงิน 35,717,273,028 บาท” ดังนั้น กระทรวงการคลังยอมรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านายกฯ เป็นผู้สั่งการให้เกิดความเสียหาย หรือมีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด และยังไม่สามารถพิจารณาเพียงผลกำไรขาดทุนทางบัญชี โดยต้องคำนวณข้าวคงเหลือในคลังสินค้าที่ยังรอการระบายอยู่เป็นจำนวนมากให้ได้ข้อยุติก่อน ดังนั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องและเป็นธรรมกับยิ่งลักษณ์ 
จำนำข้าว_5.jpg

นโยบายแหวกกรอบ ยืนยันจำนำข้าวไม่เสียหายในภาพรวม

  • ว่ากันตามตรง ปัญหาคอร์รัปชันอาจไม่ใช่ความกังวลหลัก หรือมีน้ำหนักมากมายเท่ากับความความหวั่นวิตกของแทบทุกฝ่ายในสังคมต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ-ฟื้นชีวิตชาวนาสไตล์เพื่อไทยที่ใช้เงินมหาศาลระดับ 5 แสนล้านภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี
  • ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่ ต้องกล่าวว่า การพูดว่า “เจ๊ง” “เป็นหนี้” “สูญ” “โกง” 5 แสนล้านแบบที่พูดกันติดปากนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวเป็นกรอบวงเงินที่ดำเนินการตลอดหลายฤดูการผลิต และเงินส่งตรงถึงมือชาวนาที่นำข้าวมาเข้าโครงการ ข้าวก็ยังอยู่ในสต๊อกของรัฐบาล หลังรัฐประหาร 2557 ถึงกลางปี 2560 สามารถระบายข้าวไปได้ 14.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 135,654 ล้านบาท คงเหลือข้าวในสต๊อก 2.88 ล้านตัน
  • ความกังวลใจหลักในยุคยิ่งลักษณ์ น่าจะอยู่ที่การระบายข้าวเป็นไปได้ล่าช้า ราคาขายที่อาจได้ต่ำกว่าประมาณการณ์ ข้อกังวลต่อราคาตลาดในประเทศ และภาระหนี้สาธารณะของประเทศ รวมไปถึงความไม่ชัดเจนว่า ทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรไทยในภาพรวมโดยเฉพาะการปลูกข้าวจะเป็นอย่างไร จะเน้นข้าวคุณภาพสูงราคาแพงหรือจะแข่งปริมาณกับเพื่อนบ้าน ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถหาข้อมูลมาโต้แย้งถกเถียงเพื่อประเมินนโยบายนี้ได้ 
  • อันที่จริง นโยบายอุดหนุนชาวนามีมาตลอด แต่ยุค “คิดใหม่ ทำใหม่” มักจะเขย่าวิธีคิดเดิมของเหล่าเทคโนแครตไทยเสมอ ตั้งแต่นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ หลายโครงการล้วนเริ่มต้นด้วยความน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้ขับเคลื่อนแล้วกลับให้ผลบวกในภาพรวม กระนั้นก็ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า ‘จำนำข้าว’ จะไปในทิศทางเช่นนั้นหรือไม่ เพราะเกิดรัฐประหารเสียก่อน 
  • ประวัติศาสตร์ ‘จำนำข้าว’

Ø เปรม ติณสูลานนท์ จำนำ 1,000 บาทต่อไร่

Ø ชาติชาย ชุณหะวัณ จำนำ 3,000 บาทต่อไร่

Ø ชวน หลีกภัย มีการตั้งคณะกรรมการการนโยบายข้าว (กบข.) เปลี่ยนระบบเป็น รับจำนำจากเกษตรกรที่มียุ้งฉาง-เกษตรกรไม่มียุ้งฉาง

Ø บรรหาร ศิลปอาชา ดำเนินการเหมือนรัฐบาลก่อนหน้า

Ø ชวลิต ยงใจยุทธ์ ดำเนินการเหมือนรัฐบาลก่อนหน้า

Ø ชวน หลีกภัย ดำเนินการเหมือนรัฐบาลก่อนหน้า

Ø ทักษิณ ชินวัตร ตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าว (กบข.) เปลี่ยนการคำนวณราคารับจำนำ จากที่เคยดูราคา 3 ปีก่อนหน้ามาคำนวณต้นทุนการผลิตของชาวนา ราคาจำนำอยู่ที่ หอมมะลิ 6,500 ข้าวปกติ 5,460 บาทแต่เพิ่มจากก่อนหน้ายังไม่มากนัก

Ø ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินการต่อ ราคาจำนำขึ้นเป็น 10,000 บาท กับ 6,900 บาท

Ø สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาต (กขช.) ราคาจำนำปรับลงมาเป็น 9,300 บาท กับ 6,700 บาท

Ø สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตั้งอนุฯ ภายใต้ กขช.จำนวนมาก ราคาจำนำปรับเป็น 15,000 บาทกับ 12,000 บาท

Ø อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปลี่ยนเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกร หรือ ประกันราคา โดยมีการจำกัดเพดานปริมาณ ราคาจำนำอยู่ที่ 15,000 บาท ไม่เกินรายละ 14 ตัน กับ 10,000 บาทไม่เกินรายละ 25 ตัน

Ø ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาใช้โครงการจำนำ และไม่มีการจำกัดเพดาน ราคาจำนำอยู่ที่ 20,000 บาท กับ 15,000 บาท

Ø ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยนเป็น คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เปลี่ยนจากจำนำเป็นการใช้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปือก แบ่งเป็น ค่าเก็บเกี่ยวและปรับคุณภาพข้าวหอมมะลิ ตันละ 2,000 บาท และจำนำยุ้งฉางเฉพาะข้าวหอมมะลิ 13,000 บาท

  • ปี 2560 พรรคเพื่อไทยออกหนังสือ ‘ทำลายจำนำข้าว แต่ฆ่าชาวนา’ ระบุถึงข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ประกอบกับโครงการจำนำข้าว เพื่อยืนยันว่าในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจดีขึ้น-ชาวนาดีขึ้น เช่น

1)     30 ปีที่ผ่านมา ตลาดข้าวไทย "เสรีแต่ไม่เป็นธรรมกับชาวนา" พ่อค้าคนกลางผู้ส่งออกรายใหญ่ของประเทศมี 5-10 ราย สามารถมีส่วนกำหนดราคาตลาดได้มากกว่าชาวนาที่มีจำนวนมาก

2)     ในรอบแรกของโครงการจำนำ มีการผลิตข้าว 38 ล้านตัน เข้าโครงการเพียง 22 ล้านตัน หรือ 58% ผู้ไม่เข้าโครงการได้ประโยชน์ทางอ้อมด้วยเนื่องจากราคาตลาดสูงขึ้น

3)     ก่อนเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ชาวนาได้เงินรวมจากการประกันรายได้อยู่ที่15,000 บาทต่อตัน ขณะที่มีต้นทุน 10,791 บาทต่อตัน เท่ากับได้กำไร 4,209 บาท ในการทำนาใช้เวลา 4-5 เดือน ทั้งนี้ ชาวนาส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและอีสาน ทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง มีพื้นที่เฉลี่ยครอบครัวละ 15 ไร่ ผลิตข้าวได้ราว 6 ตัน เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ชาวนาจะได้กำไรประมาณ 25,245 บาทต่อปี เฉลี่ยแล้วได้เดือนละ 2,525 บาท แม้ภาคกลางภาคใต้อาจทำนาได้มากครั้งกว่า แต่ต้นทุนก็ย่อมสูงกว่าเช่นกัน การยกระดับราคาจำนำยุคยิ่งลักษณ์ คำนวณค่าแรงชาวนาไปด้วย คิดสารตะแล้ว ชาวนาจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 5,525 บาท เรียกว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่า  

"มันเป็นรายได้ที่ไม่มากเลย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพและคนทำอาชีพอื่น" หนังสือระบุ

4)     ระหว่างดำเนินโครงการ ธ.ก.ส.จ่ายเงินตรงเข้าบัญชีชาวนา รวมแล้ว 878,315.73 ล้านบาท ในขณะที่โครงการประกันราคาของรัฐบาลอื่น แม้ใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่พบว่ามีช่องโหว่ามากมายในการสวมสิทธิ์ พื้นที่ปลูกข้าวจริงจากภาพถ่ายดาวเทียมน้อยกว่าที่ขึ้นทะเบียนมาก

5)     รัฐบาลเพื่อไทยยืนยันว่า งบประมาณไม่ถึง 10% ช่วยประชากร (ชาวนา) 23% เป็นเรื่องสมเหตุสมผล และเป็นการตั้งใจปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศลดการพึ่งพาการส่งออก สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในด้วยโครงการขนาดใหญ่

6)     ข้อมูล สศช.ระบุว่า ช่วงเริ่มต้นโครงการจำนำข้าว ชาวนามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 42,000 บาทต่อคน และเมื่อดูยอดเงินฝากในบัญชีของ ธ.ก.ส. มีเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ทั้งในปี 2554 2555 2556 สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ทำให้ GDP ของประเทศเติบโต้มากกว่า 5% ในปี 2555/2556

7)     สศช. ระบุว่า สัดส่วนของยากจนลดลง ในปี 2553 มี 10.8 ล้านคน ต่อมาในปี 2555 คนยากจนลดลง 2.4 ล้านคน เหลือ 8.4 ล้านคน 

8)     ธ.ก.ส.ระบุว่า ปี 2554, 2555, 2556 อัตราการชำระหนี้ของเกษตรกรอยู่ที่ 94.51%, 96.26%, 97.40% ขณะที่ยอดเงินฝากปี 2555 สูงกว่าปี 2554 ถึง 104,382 ล้านบาท

9)     ในการประชุมคณะกรรมการข้าวซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วม เมื่อ 2556 มีการระบุว่า โครงการนี้ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและรัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีจากกำไร ภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 41,000 ล้านบาท ราคาตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นจากโครงการรับจำนำมีมูลค่าประมาณ 280,389 ล้านบาท และส่งผลทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้สร้างรายได้เพิ่มประมาณ 114,399 ล้านบาท

10) ภาระหนี้สินของประเทศ สัดส่วนหนี้ต่อ GDP นั้นรัฐธรรมนกำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 60% หากดูตัวเลขย้อนหลังจะพบว่า จนถึงปี 2556 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 47.5%

11) หากดูการจัดทำงบประมาณในภาพรวม รัฐบาลอภิสิทธิ์( 2553-2554) ทำงบประมาณขาดดุล ต้องกู้ชดเชย 400,000 ล้านบาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2554-2555) ทำงบประมาณขาดดุลเท่าเดิม 400,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณถัดมาขณะที่ทำโครงการจำนำข้าว สามารถทำงบประมาณขาดดุลให้ลดลงมาเหลือ 300,000 ล้านบาท ปีถัดมาขาดดุลลดเหลือ 250,000 ล้านบาท ทั้งยังประกาศจะทำงบแบบ "สมดุล" ได้ในปี 2560 แต่อยู่ไม่ถึง ขณะที่หันมองปี 2561 รัฐบาลประยุทธ์ จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ต้องกู้ชดเชยถึง 390,000 ล้านบาทโดยไม่มีโครงการจำนำข้าว ส่วนปี 2564 รัฐบาลประยุทธ์ตั้งงบขาดดุล 623,000 ล้าน 

จำนำข้าว_6.jpg

บทบาท TDRI เทคโนแครตคุมการเมือง อดีต-ปัจจุบัน

  • ทั้งคำท้วงติง ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทั่งม็อตโต้ “จำนำข้าวของอีปู” ของกปปส.ล้วนมาจากรากเดียวกันคือ งานวิจัยของ นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของ TDRI 'การทุจริตกรณีการศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด' (2557)
  • หนังสือ ‘สถาบันคลุมสมอง: กายวิภาคการเองของทีดีอาร์ไอ’ โดยเอกสิทธิ์ หนุนภักดี (2558) ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีคำถามหลายเรื่อง เช่น เรื่องการขายข้าวแบบลับๆ ในราคาต่ำกว่าตลาดนั้นไม่ข้อมูลยืนยันอย่างแน่ชัดเนื่องจาก สตง.ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของโครงการได้, ข้อสรุปเรื่องการทุจริตเหมือนกับงานวิจัยเรื่องคล้ายคลึงกันที่ TDRI ทำก่อนหน้าในปี 2553 และ 2556, ข้อมูลที่ใช้มาจากเอกสารทางราชการ การสัมภาษณ์และประชุมระดมสมองกับกลุ่มชาวนา โรงสี ผู้ส่งออกข้าว พ่อค้าข้างถุงและจากข่าวทั่วไป, การอ้างเรื่องข้าวคุณภาพต่ำยังไม่มีการเก็บข้อมูล, นักวิจัย TDRI เองก็มีความเห็นต่างกัน เช่น นิพนธ์และอัมมาร สยามวาลา วิพากษ์โครงการจำนำข้าวเน้นข้อสันนิษฐานเรื่องทุจริต ขณะที่วิโรจน์ ณ ระนอง ชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงเกินไป และการกำหนดราคาสูงจะจูงใจให้คนอยู่กับภาคเกษตรต่อไป 
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิจารณ์ว่าแม้โครงการนี้จะขาดทุนแต่เขาสนับสนุนเพราะเป็น “โครงการปฏิรูปสังคม” ทำให้ชาวนาสะสมทุนเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมได้ มองภาพรวมจะทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งชนชั้นกลางและชนชั้นนำไม่ต้องการให้เกิดสภาพนี้ TDRI โต้แย้งนิธิว่า ชาวนายากจนได้ประโยชน์น้อยกว่านั้นในความเป็นจริง, รัฐแทรกแซงกลไกตลาดทำให้นำไปสู่การเล่นพรรคเล่นพวกและรั่วไหล หากปล่อยกลไกตลาดทำงานจะทำให้ผู้อยู่ในตลาดต้องปรับตัวพัฒนาคุณภาพ, ความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนาต้องแลกกับความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจและการเงินการคลงของรัฐ
  • สิ่งที่น่าสนใจกว่าข้อถกเถียงเรื่องจำนำข้าวก็คือ บทบาทของ TDRI ซึ่งเป็น Think Tank ด้านนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญของไทย ก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร และมีพัฒนาอย่างไร ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในหนังสือเล่มดังกล่าว ระบุว่า

Ø TDRI ก่อตั้งในปี 2527 ได้รับการสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐทั้งในและต่างประเทศ เช่น หอการค้า สภาอุตฯ สมาคมธนาคาร SCG สหยูเนี่ยน ฯลฯ

Ø ผู้ริเริ่มสำคัญคือ อัมมาร สยามวาลา, เสนาะ อูนากูล, อานันท์ ปันยารชุน, โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, ณรงค์ชัย อัครเสนี, อาณัติ อาภาภิรม

Ø มีผู้บริหารมาแล้ว 6 คน คนสำคัญๆ ได้แก่

§ เสนาะ อูนากูล

เคยเป็นเลขาสภาพัฒน์ยุคเปรม ติณสูลานนท์, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2518), รองนายกฯ สมัยอานันท์ ปันยารชุน, กรรมการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรรมการบริษัทปูนซีเมนต์ไทย, กรรมการบริษัททุนลดาวัลย์ ฯลฯ เขามีบทบาทอย่างสูงในทศวรรษ 1970-1990 ตัวแบบและเป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจในอุดมคติของเสนาะคือ การให้เทคโนแครตกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ “ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนยังไง (บ้านเมือง) ก็ไปได้เพราะเทคโนแครตยังอยู่”

§ อัมมาร สยามวาลา

ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะเทคโนแครตมืออาชีพ ที่ยืนหยัดในความเป็นเสรีนิยม และเชื่อมั่นในกลไกตลาด แม้อัมมารพยายามรักษาระยะห่างกับการเมือง แต่ตัวเขาก็เคยรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร 2549

§ ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์

เคยเป็นที่ปรึกษานายกฯ หลายคน และเคยตำรงตำแหน่ง รมว.การคลัง ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (ขณะที่โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รับตำแหน่ง รมว.อุตสหากรรม, สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย TDRI เป็นกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นกรรมการยกร่างพ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ, เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เป็นเลขานุการ รมว.คลัง)

§ นิพนธ์ พัวพงศกร

เป็นผู้ร่วมร่างนโยบายนโยบายประกันราคาข้าวของพรรคประชาธิปัตย์ เคยรับตำแหน่งอนุกรรมาธิการปฏิรูปด้านความเหลื่อมล้ำ ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) สมัย คสช.

  • แม้ TDRI จะเป็น think tank นโยบายเศรษฐกิจให้กี่รัฐบาลมาแล้วก็ตาม แต่ที่พีคที่สุดคือช่วงหลังการยึดอำนาจทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ช่วงนั้นคน TDRI เข้าไปอยู่ศูนย์กลางอำนาจช่วยผลักดันนโยบายหลายเรื่องเพื่อควบคุมวินัยการเงินการคลังที่พวกเขาเชื่อว่านักเลือกตั้งประชานิยมชอบคิดนโยบายแบบไม่รับผิดชอบและทำลายหลักการนี้ รวมถึงผลักดันกฎหมายหลายตัว เช่น พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่, มาตรา 190 การทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศ, พ.ร.บ.ความผิดชอบทางการคลัง
  • จากการจัดอันดับของ The Global Go To Think Tanks Report 2011 ระบุว่า ประเทศไทยมีคลังสมองไม่ถึง 10 แห่ง และที่โดดเด่นมากที่สุดคือ TDRI เจมส์ แมคแกน นักวิชาการด้านคลังสมองระบุว่า TDRI มีบทบาทปฏิรูปตลาดแต่ไม่ปรากฏโครงการที่ส่งผลต่อกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย
  • TDRI วิพากษ์นโยบายของรัฐบาลทักษิณอย่างหนักหลายเรื่อง ต่อเนื่องถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 ล้านล้าน โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ฯลฯ ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นมักใช้นโยบายที่ TDRI ผลักดัน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร (แทนจำนำข้าว) ยิ่งกว่านั้นคือ หลังรัฐประหารโดย คสช. มีการปกครองอย่างยาวนานต่อเรื่องถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 มีคำวิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณและข้อครหาเรื่องการทุจริตมากมายแต่เรากลับแทบไม่ได้ยินเสียงของ TDRI
จำนำข้าว_7.jpg

ตุลาการกับการเมือง

  • สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ว่า

นโยบายทางการเมือง หมายความว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถที่จะผลิตนโยบายต่างๆ และมีวิธีดำเนินการแตกต่างกันได้ อย่างเช่น การรับจำนำข้าว ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้รูปแบบการประกันราคา ซึ่งนโยบายทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้ว่าถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถ้านโยบายไหนไม่เหมาะสมก็ต้องมีการลงโทษทางการเมืองไป เช่น ถ้าเห็นว่านโยบายจำนำข้าวไม่เหมาะสม สูญเสียงบประมาณ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องออกมาคัดค้าน แต่กรณีนี้กลับถูกลากเข้าสู่คดีความทางกฎหมาย ซึ่งเดิมทีควรเป็นเรื่องความรับผิดทางการเมือง

ถ้าในระบอบการเมืองปกติก็ทำได้ตั้งแต่การตั้งกระทู้ อภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงมีผลต่อการเลือกตั้งใหม่ แต่พอลากมาเป็นความรับผิดทางกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะกระเทือนต่อไปในอนาคตก็คือ พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่กล้าผลิตนโยบายใหม่ๆ ออกมาหาเสียง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เรามักจะพูดกันว่า เลือกพรรคไหนก็ไม่เห็นต่างกันเลย นโยบายอะไรก็ไม่แตกต่าง แต่พอรัฐบาลเพื่อไทยมีนโยบายใหม่ขึ้นมา แล้วถูกลากไปเป็นคดีความ สุดท้ายมันก็จะย้อนกลับไปสู่สภาพเดิมคือ ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าผลิตนโยบายอะไรใหม่ๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนโยบายที่มีผลต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การที่จะให้นายกฯ รับผิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ต้องปรากฏหลักฐานว่าตัวนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘โดยทุจริต’ หมายความว่า ต้องมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ และสามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน

ถ้าตามกระบวนการปกติ หลังจากคุณยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วก็เลือกตั้งกันใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องชูนโยบายขึ้นมาแข่ง แต่สถานการณ์วันนี้ไม่เปิดโอกาสให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางการเมืองทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีความพยายามที่จะจัดการกับสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ให้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่มุ่งจะให้เกิดการเอาผิดทางกฎหมาย แต่เดิมหากนโยบายของพรรคไหนไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนในวงกว้าง อย่างมากถ้ามีการเลือกตั้งสมัยหน้า ถ้าพรรคนั้นไม่ได้รับความนิยมก็ต้องพ้นไป แต่บัดนี้มันไม่ใช่แล้ว มันกำลังถูกลากให้กลายเป็นการรับผิดทางอาญา

(อ่านที่ https://waymagazine.org/talk_somchai_justice/)

  • โยชิฟูมิ ทามาดะ (TAMADA Yoshifumi) ศาสตราจารย์ประจำ ATAFAS ของมหาวิทยาลัยเกียวโต เคยกล่าวไว้ว่า

โดยหลักการแล้วการแยกอำนาจระหว่าง ตุลาการ (ศาล) นิติบัญญัติ (รัฐสภา) บริหาร (รัฐบาล) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ในเมืองไทยการแยกระหว่างสามอำนาจนี้มีมากน้อยแค่ไหน?

สำหรับศาลเมืองไทย นับว่าเป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยอมขึ้นกับ “รัฐพันลึก” อธิบายอย่างรวบรัด “รัฐพันลึก” คือ ภายใต้รัฐอย่างเป็นทางการยังมีรัฐอีกรัฐหนึ่ง หรืออีกหลายๆ รัฐ ที่มีอำนาจครอบงำซ่อนตัวอยู่ ถ้ายืมคำอิบายของ อ.เกษียร เตชะพีระ มันเหมือนตุ๊กตารัสเซีย เปิดข้างในออกจะเจออีกตัว และอีกตัว และอีกตัว และอีกตัว โดยรัฐพันลึกไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชน เป็นอำนาจเผด็จการ แม้อ้างว่าเป็นคนดีก็ตาม

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลกระทบต่อระบบศาลและต่อการเมืองอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงนั้นบางส่วนก็เป็นไปตามที่คาดหมาย เช่น พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ศาลเข้มแข็งขึ้น แต่ที่ผิดคาดคือ ประชาชนตาสว่างขึ้น

ตุลาการภิวัตน์ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก มีรูปแบบหลายอย่าง อย่างน้อยที่ยุโรปเขายอมรับกัน แต่ที่เมืองไทยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควรว่าไม่ถูกต้อง

ตุลาการภิวัตน์ (Activism) นั้นมาจากหลักการ constitutionalism (รัฐธรรมนูญนิยม) เป็นหลักการที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมีปัญหา โดยปัญหาสำคัญคือ rule of law กลายเป็น rule by law อย่างในเมืองไทยปัจจุบันนี้ เขียนกฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจแล้วก็ใช้กฎหมายนั้นกับประชาชน หลักการ constitutionalism คืออะไร แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ และอาศัยรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐ

ในเมืองไทยศาลมีอิสระสูงมาก เช่นเดียวกับกองทัพไทยก็มีอิสระสูงมากเป็นพิเศษ ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายจะมีกองทัพที่อิสระเท่าประเทศไทยนั้นไม่มีแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ฝ่ายการเมืองไม่ได้ “แทรกแซง” คนไทยมักใช้คำนี้ แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ฉะนั้น ต้องควบคุมดูแลกองทัพได้ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ประเทศไทย รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการโยกย้ายทหาร จนทำให้ฝ่ายการเมืองยุ่งเกี่ยวไม่ได้

สำหรับเมืองไทยนั้นการตีความ “ทุจริต” นั้นกว้างขวางมาก อะไรๆ ก็สามารถเป็นการทุจริตได้หมด ทำให้จัดการไม่ได้จริง จัดการเท่าไรก็ไม่หมด แทนที่จะนิยามให้แคบแล้วจัดการอย่างจริงจังและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ถามว่านโยบายกระจายรายได้เป็นทุจริตหรือเปล่า ชอบไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง ผิดกฎหมายหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง การที่ฟ้องว่ายิ่งลักษณ์ไม่ควบคุมกลไกรัฐอื่นๆ ให้ดี อาจมีความผิดตามกฎหมายก็ได้ แต่การที่รัฐบาลขายข้าวขาดทุนนั้นผิดกฎหมายได้อย่างไร รัฐบาลก่อนก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ดีเขาก็มีนโยบายที่รัฐขาดทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนหลายโครงการ เรื่องของพืชผลประเทศไทยก็ขาดทุนมา 30-40 ปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายเอาตอนนี้

“การปฏิรูปเพื่อแก้ทุจริตเป็นแค่ข้อแก้ตัวเพื่อทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น ...หากจะให้สรุปตรงนี้ ผมว่าความเท่าเทียมกันสำคัญที่สุด ความเท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย และศาลต้องรักษาหลักการความเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด”

(อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2017/09/73054)