ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุห่างไกลโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วยการควบคุมไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วนประชากรสูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 13.2 ในปี พ.ศ. 2553 คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 26.6 ในปี พ.ศ. 2573 จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลและส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลและพึ่งพาตนเองได้

ซึ่ง 1 ในโรคที่พบได้ในผู้สูงอายุคือโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุที่สำคัญของความพิการ โดยพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวสูงกว่าเพศหญิง

ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแล รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล ดังนั้นจึงควรได้รับการดูแลต่อเนื่องตั้งแต่ระยะฉุกเฉิน ระยะเริ่มฟื้นตัว และระยะฟื้นฟูที่บ้าน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหลอดเลือดสมองคือภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1.โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด พบได้ถึงร้อยละ 85 ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง สาเหตุมาจากไขมัน ที่เกาะตามผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง อีกทั้งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทำให้เกิดลิ่มเลือดและทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ โดยปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดสมองตีบคือ ภาวะคอเลสเทอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก

2.โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมองหรือภาวะเส้นเลือดในสมองแตก สาเหตุเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด ทำให้เลือดรั่วไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าชนิดแรกแต่ความรุนแรงไม่ต่างกัน สาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก น้ำหนักมาก และไม่ออกกำลังกาย ตลอดจนภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองและความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งผู้สูงอายุแต่ละคนอาจมีหลายอาการร่วมกัน เช่น ร่างกายอ่อนแรงหรืออาการอัมพฤกษ์ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายและมีอาการเหน็บชาร่วมด้วย มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการเข้าใจคำพูดผิดเพี้ยน อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวและอาการบ้านหมุน สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือเห็นภาพซ้อนและมีอาการมึนงงอย่างรุนแรง      

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรปฏิบัติตัวให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ที่มีไฟเบอร์สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารที่มีรสเค็มจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด และที่สำคัญควรควบคุมไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง