ไม่พบผลการค้นหา
‘เครือข่ายแรงงานฯ’ ถูกใจ ‘เพื่อไทย’ ดันเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ. เชื่อทำได้ ยก กมธ.แรงงาน เคยยกค่าแรงควร 720 บ. อัดรัฐบาลประยุทธ์ ให้ ‘รมว.แรงงาน’ มาดิสเครดิต ฉะกลับ พปชร.เคยหาเสียงแต่ทำไม่ได้ เล็งร้อง กกต.สอบ พปชร.หาเสียงค่าแรงหลอกลวงประชาชน ด้าน นิสิต มศว-จุฬาฯ ออกมาขานรับ เชื่อ ‘เพื่อไทย’ ทำได้จริง ไม่เอื้อทุนใหญ่

วันที่ 8 ธ.ค. 2565 จากกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 25,000 บาท โดยยืนยันว่าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2570 หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2566

โดย ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า เป็นที่ถูกใจแรงงาน และสอดคล้องกับข้อเสนอของแรงงานเรื่องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ ส่วนใหญ่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ถือว่ามากมาย เพราะไม่ได้ขึ้นทีเดียวเป็น 600 บาท แต่ค่อยขยับๆ หากนับไปอีก 4 ปี ถึง 2570 ก็คิดเป็นขึ้นค่าแรงปีละ 65 บาทโดยเฉลี่ย จึงมีความเป็นไปได้

แม้แต่พรรคก้าวไกลยังไม่เคยเสนอนโยบายเช่นนี้ ถึงจะเป็นพรรคที่มี ส.ส.ปีกแรงงาน ก็ตาม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ก็เคยออกแบบสำรวจพบว่า ต้องมีค่าแรงอย่างน้อย 720 บาท แรงงานจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ แล้วเหตุใดพรรคจึงไม่ออกมาประกาศนโยบายในเรื่องดังกล่าว ส.ส.ปีกแรงงานกลับไม่ชูนโยบายนี้เหมือนพรรคเพื่อไทย ซ้ำยังมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง ของพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์คัดค้านนโยบายเพิ่มค่าแรงดังกล่าวด้วย

"ความจริงค่าจ้างของแรงงานถูกกดมาหลายปี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาแค่ 21 บาท ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ 3 ซอง แล้ว สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาพูดว่านโยบายเพิ่มค่าแรงจะเป็นหายนะของประเทศ คุณเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ควรแสดงวิสัยทัศน์ว่า ถ้าทำได้จริง ก็ควรสนับสนุน เพราะพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงไว้ก็ทำไม่ได้" ธนพร กล่าว

ธนพร ยังกล่าวถึงกรณี สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยบชร สภาผู้แทนราษฎร ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนโยบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยว่าทำได้จริงหรือไม่ ตนก็จะไปร้องต่อ กกต. เช่นกัน ให้ตรวจสอบนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงไว้ด้วย ถือว่าเป็นการหลอกลวงแรงงานหรือไม่ เพราะบริหารเป็นรัฐบาลมาถึง 8 ปีแล้ว ก็ยังทำไม่ได้เลย ตนเคยไปเรียกร้องประเด็นนี้ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลับได้คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ธนพร -696D-482F-BAA1-B019885992E1.jpeg

ส่วนข้อกังวลว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น ธนพร มองว่า นายจ้างโดยธรรมชาติ เมื่อเห็นว่าจะเสียประโยชน์ก็จะออกมาทักท้วงไว้ก่อน เพราะต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นมาถึง 250 บาทโดยประมาณจากค่าแรงปัจจุบัน แต่ตนเห็นว่าควรมองมุมกลับ พิจารณาอย่างมีเหตุผล ที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจในภาพรวม เปรียบเหมือนแรงงานในโรงงานผลิตสินค้ามาจำหน่ายได้เยอะ แรงงานก็สามารถเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างประจำดีได้เช่นกัน ซึ่งหากนายจ้างทำไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือด้วย เช่น ทำข้อตกลงการค้ากับต่างประเทศ หรือหาช่องทางลดภาษีให้ผู้ประกอบการ

ตนมองมุมกลับว่า รัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีบังคับแจก ใครจนแล้วจะได้ สุดท้ายผลประโยชน์จะเข้าทุนใหญ่ ต้องซื้อของที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐ เงินจะเข้าสู่ทางเดียว แต่หากเงินเข้าสู่แรงงาน เงินจำนวนนั้นจะหมุนเวียนไปทั้งระบบ รวมถึงธุรกิจรายย่อย การขนส่ง และชุมชน

"ควรมองอย่างไม่มีอคติ แน่นอนมันเกิดการถกเถียง แต่ต้องเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่สาดเสียว่าทำไม่ได้หรอก ก็คุณเป็นรัฐบาลแล้วคุณทำไม่ได้ จะรอให้เขาเป็นรัฐบาลก่อนไหม ถ้าเขาทำได้แล้วคุณจะทำยังไง 8 ปี สำหรับพวกคุณ ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น คนงานก็แย่ ตกงาน การจ้างงานใหม่ๆ ก็ไม่มี"

ทั้งนี้ ธนพร มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยสามารถทำนโยบายดังกล่าวให้เป็นไปได้จริง เพราะตัวเลขไม่ได้สูง เมื่อเทียบเฉลี่ยต่อ 4 ปี แต่พรรคเพื่อไทยควรต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดว่ามีมาตรการใดบ้างเพื่อดูแลนายจ้าง หากเศรษฐกิจดีขึ้นจริง จะมีส่วนสนับสนุนนายจ้างได้ เช่น เรื่องภาษี แหล่งทุน ลดดอกเบี้ย เพื่อให้นายจ้างมีความสบายใจ

"แน่นอนว่าคนตะลึง เพราะเขาคิดใหญ่ แต่คิดว่าเขาต้องทำได้ เพราะเขาเห็นว่าถ้าทำไม่ได้จะเป็นปัญหา ก็เหมือนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ ทำให้แรงงานไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะไม่มีใครอยากจากบ้านมา ก็จะช่วยลดงบประมาณด้านสาธารณูปโภคที่เขาต้องดูแล หรือในเขตนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายอื่นๆ ก็สอดคล้องกัน เช่น นโยบายเกษตรกร เพราะเกษตรกรก็คือพ่อแม่ของเรา" ธนพร กล่าว

นิสิต มศว หนุนค่าแรง 600 บ.

ด้าน สันติภาพ ราษฎรยินดี ประธานสโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มองว่า ค่าแรง 300 บาท ไม่เพียงพอต่อประชาชนทั่วไป จึงเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังว่าต้องเพิ่มไปถึง 600 บาท แต่อย่างน้อยให้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็ถือว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จแล้ว

สำหรับความกังวลต่อนโยบาย สันติภาพ ระบุว่า ยังมีความกังวลในส่วนหนึ่ง เพราะหากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย จึงต้องหาจุดร่วมระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐ 

"คาดหวังว่าน่าจะเป็นไปได้ เมื่อดูจากผลงานที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ในหลายส่วนเช่นกัน แต่ขอฝากไว้ว่าหากมีแนวคิดจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ทางพรรคเองควรหากลไกดูแลเรื่องค่าครองชีพด้วย คือหากค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ต้องหาทางคุมไม่ให้ค่าครองชีพเพิ่มด้วย"

ส่วนนโยบายเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของเด็กจบใหม่ วุฒิการศึกษา ป.ตรี เริ่มต้นเงินเดือนที่ 25,000 บาทนั้น สันติภาพ กล่าวว่า สมเหตุสมผล เพราะทุกวันนี้เด็กจบใหม่ เงินเดือนก็เริ่มต้นที่ประมาณ 15,000 บาท บางสายอาชีพก็ประมาณ 9,000 บาท เช่น ครูที่ไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพที่ทำงานตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเห็นด้วยกับนโยบายเด็กจบใหม่ เริ่มต้นเงินเดือนที่ 25,000 บาท เพราะจะเป็นการช่วยลดปัญหาสมองไหลด้วย

ขณะที่ ฐิติ ชิวชรัตน์ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 4 มองว่า นโยบายเงินเดือน 25,000 บาท สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีนั้น ตอบสนองกับนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงานมาก เพราะเท่าที่ได้คุยกับเพื่อนๆ ในรุ่น พบว่า หนึ่งในความกังวลสำหรับเด็กจบใหม่คือ เรื่องเงินเดือนที่จะได้ เพราะทราบกันดีว่า ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ค่อนข้างจะมีราคาสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง อีกทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในปีต่อไป ยังไม่รวมถึงการที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงดูครอบครัว หรือพ่อแม่ที่แก่ชราลงไปเรื่อยๆ และต้นทุนที่เด็กจบใหม่ต้องแบกรับเยอะกว่าเงินเดือนที่จะได้ หากอ้างอิงตามฐานเงินเดือนในปัจจุบัน ถ้ามีนโยบายที่การันตีได้ว่า นิสิต หรือนักศึกษาเมื่อจบมหาวิทยาลัยออกมาแล้วจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่า สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยมีรายรับมากกว่าต้นทุน 

ส่วนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น ฐิติ มองว่า ต้องดูหลายๆ องค์ประกอบในสังคมรวมกัน แต่ตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 5 ปีของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้จีดีพีโตเฉลี่ย 5% มันก็สามารถทำให้ค่าแรงขั้นต่ำไปถึง 600 บาทได้ เมื่อภาคเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคธุรกิจก็จะมีกำลังจ้างคนในอัตราที่มากขึ้น หรือจ้างด้วยเงินเดือนที่มากขึ้นตามลำดับ รวมถึงหากเศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ การจ้างคนด้วยอัตราค่าแรง 600 บาทจะไม่ได้เอื้อให้แก่นายทุนเอกชนรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังเอื้อให้แรงงานทุกคนอีกด้วย