ไม่พบผลการค้นหา
'ประชาธิปัตย์' ประชุมใหญ่สามัญ แกนนำร่วมประชุม ด้านสมาชิกแห่ให้กำลังใจ 'จุรินทร์' สู้ๆ โดยหัวหน้า ปชป. ยืนยัน กก.บห.ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบจนเลยขอบเขต ปม 'ปริญญ์' ย้ำได้ตั้งคณะทำงานมาแก้ปัญหาแล้ว โต้ 'วิทยา' ทิ้ง ปชป.ในอดีตเคยแสดงสปิริตออก รมว.สธ. แต่ครั้งนั้น กก.บห.ยังไม่ต้องลาออก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 เม.ย. 2565 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นประธานการประชุมและมีแกนนำพรรคเข้าร่วมประชุม อาทิ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีตหัวหน้าพรรค บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรค จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นอกจากนี้ยังสมาชิกพรรคบางส่วนประชุมผ่านระบบซูม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เป็นต้น

ทั้งนี้ การประชุมเพื่อเป็นการรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญพรรค ปชป. ประจำปี 2564 และดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญพรรคการเมือง มาตรา 43 และ มาตรา 61 โดยมีการรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา และรับรองงบการเงินประจำปี 2564 นอกจากนี้ยังมีวาระแผนยุทธศาสตร์ของพรรคแผน หรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไป โดยเฉพาะการหารายได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง และแผนการพัฒนาบุคลากรทางการเมืองตามข้อบังคับพรรคข้อ 79

ทั้งนี้ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น เมื่อ จุรินทร์ เดินทางมาถึงพรรค มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จากทุกภาค ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกับเปล่งเสียงให้กำลังใจ “หัวหน้า สู้ๆ” ดังกระหึ่มตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีตัวแทนพรรคจากภาคอีสานได้นำผ้าขาวม้าผูกเอวหัวหน้าพรรค และมีการรดน้ำมนต์จาก 10 วัด เพื่ออวยพรให้ จุรินทร์มีกำลังใจในการทำประโยชน์ให้กับประเทศและชาวประชาธิปัตย์ต่อไป 

จุรินทร์ ประชาธิปัตย์  3-222FF9519778.jpegจุรินทร์ ประชาธิปัตย์ 50213238207B.jpegจุรินทร์ ประชาธิปัตย์ เฉลิมชัย -DCA3-4C57-BCBD-5652D5087B28.jpeg

'จุรินทร์' แจงปม 'ปริญญ์-วิทยา' กก.บห.ไม่ต้องแสดงสปิริตเกินขอบเขต

จากนั้น จุรินทร์ ระบุถึงผลการประชุมพรรคในวันเดียวกันนี้ ว่า ที่ประชุมมีการสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าพรรคได้มีการดำเนินการอะไรไปบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ชี้แจงให้ที่ประชุมเข้าใจ โดยกรณีของ ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั้น ตนได้ชี้แจงแทน กก.บห. พรรคว่า ได้มีการแถลงไปแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง นอกจากการให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านั้น และขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งมี รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลภายนอกพรรคที่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน บทบาทสตรี และผู้ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน และเป็นคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยดูด้วยว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตเราจะหาทางป้องกันปัญหาได้อย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะกลายเป็นต้นแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคต่อไปในอนาคตได้ 

จุรินทร์ ยังกล่าวถึง กรณีที่มีผู้นำข้อความทางไลน์ภายในพรรคออกไปเผยแพร่ข้างนอกว่า เรื่องนี้ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเช่นเดียวกับที่สาธารณชนรับทราบว่าพรรคมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ รวมไปถึงการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไปในอนาคตด้วย โดยมอบให้ นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ดำเนินการต่อไป 

ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงเวลานี้ยังยืนว่าจะยังไม่ลาออกใช่หรือไม่ จุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้พูดเรื่องนี้ไปแล้วว่า ความรับผิดชอบนั้น ถ้ามันเลยขอบเขตก็จะกลายเป็นความไม่รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ทำไปก็คือ เมื่อปัญหาเกิดในยุคเรา ตนก็ไม่ผลักความรับผิดชอบ เราก็มีหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปข้างหน้าให้ได้ และก็ไม่หนีปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็คือสิ่งที่เราได้ยึดถือยึดมั่นมา 

จุรินทร์ ประชาธิปัตย์ -ADE7-4AD4-8E71-A7DD1B82DBFC.jpeg

จุรินทร์ กล่าวว่า แม้แต่กรณีที่ วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมายกตัวอย่างว่าในยุคที่ วิทยา เป็น รมว.สาธารณสุขเคยถูกกล่าวหาทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง วิทยา ก็ได้แสดงความรับผิดชอบหรือแสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่กรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้ลาออก แต่กรรมการบริหารพรรคชุดนั้นก็ไม่ได้หนีปัญหา และได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาด้วยการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค จนกระทั่งมีมติที่จะให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี และตนก็เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากมติพรรคให้ปรับคณะรัฐมนตรีจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการไปเป็น รมว.สาธารณสุขเพื่อไปแก้ปัญหาในกระทรวงสาธารณสุขจากการลาออกของ วิทยา ซึ่งเรื่องนั้นเป็นมาตรฐานหรือเป็นสิ่งที่เราได้เคยปฏิบัติมา

"ยุคนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนมาตรฐาน และยุคนี้ก็ได้ปฏิบัติไปตามนั้นเมื่อ คุณปริญญ์ ได้เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา คุณปริญญ์ก็ได้ลาออกไปจากทุกตำแหน่งในพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคก็ไม่มีหน้าที่ที่จะแสดงความรับผิดชอบจนเกินเลยขอบเขตของความรับผิดชอบจนกลายเป็นการหนีความรับผิดชอบ และกรรมการบริหารพรรคก็มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการ ที่มี.รัชดา เข้ามาแก้ไขปัญหา" จุรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชี้แจงของหัวหน้าพรรคในที่ประชุมวันนี้จะทำให้ปัญหาในพรรคคลี่คลายได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เรื่องนี้ในที่ประชุมก็ไม่มีผู้ใดถามเพิ่มอีก และทุกท่านก็รับทราบและเข้าใจในคำชี้แจง 

ส่วนที่หลายคนมองว่าปัญหาดังกล่าวเหมือนเป็นระเบิดเวลานั้น หัวหน้าพรรคกล่าวว่า ตนไม่ไปขอตอบตรงนั้น เมื่อเรามีหน้าที่อะไร มีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ต้องรับผิดชอบด้วยการแก้ไขปัญหา ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ได้แปลว่าวันนี้ประชาธิปัตย์เจอปัญหานี้แล้ว เราจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์จบแล้วเหมือนที่บางคนพยายามพูดให้เป็นอย่างนั้นซึ่งตนไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น 

“ทุกยุคทุกสมัยก็มีปัญหาเกิดขึ้น กรรมการบริหารพรรคที่สมาชิกเขาเลือกมาจากมติทั่วประเทศก็มีหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาไม่ว่าองค์กรใด ไม่ใช่เฉพาะประชาธิปัตย์ ทุกองค์กรมีปัญหาได้ทั้งสิ้น คนที่รับผิดชอบองค์กรก็ต้องแก้ปัญหาในรัฐบาลก็มีปัญหา ไม่ใช่ไม่มี คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี คนเป็นรัฐมนตรีก็มีหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหา เพราะเขาเลือกขึ้นมาเป็นผู้บริหารพรรค หรือผู้บริหารองค์กรเพื่อไปแก้ปัญหา ถ้าหนีปัญหาก็กลายเป็นความไม่รับผิดชอบประการหนึ่งเหมือนกัน ทุกอย่างมีหลายมุม” 

สิ่งเดียวที่ตนและคณะกรรมการบริหารพรรคจะทำได้ก็คือเราต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดให้สมบูรณ์แบบที่สุด แล้วพาพรรคให้เดินข้างหน้าให้ได้ ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการที่จะนำพรรคเดินไปข้างหน้าต่อไปและส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไป ให้คนรุ่นใหม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อไปในอนาคต 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมี กก.บห. ของพรรคประสงค์ลาออกเพิ่มเติมอีก จะมีแนวทางอย่างไร หัวหน้าพรรคกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ของแต่ละท่าน เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของทุกคน ในทุกวิกฤติก็มีโอกาส เมื่อเราไม่ประสงค์ให้ใครออกจากพรรค แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็มีหน้าที่ต้องหาคนใหม่ในการเข้ามาชดเชยทดแทน ทุกองค์กรก็มีเข้ามีออก ทุกองค์กรก็มีสิ่งที่หมดภารกิจไป แต่ตนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่ใครจะลาออก อย่าเข้าใจผิด แต่ทุกองค์กรต้องมีหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาในการที่จะต่อเติมอนาคตให้กับองค์กรนั้นๆ ประชาธิปัตย์ก็เหมือนกัน ทุกพรรคก็เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะประชาธิปัตย์ ไม่งั้นประชาธิปัตย์อยู่ยั้งยืนยงมา 76 ปี แล้วเดินหน้าสู่ปีที่ 77 ต่อไปไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง