ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม เริ่มคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพสมอง และจัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยสหวิชาชีพและชุมชนมีส่วนร่วม ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความเครียดของครอบครัว

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมรับปัญหาผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2550 ประเทศไทยมีความชุกของภาวะสมองเสื่อมอยู่ที่ 229 ต่อประชากรแสนคน คาดว่าในปี 2570 จะมีมากกว่า 450 ต่อประชากรแสนคน จึงได้ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาระบบการดูแลและบริการผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมครบวงจร

เริ่มตั้งแต่ระบบการคัดกรอง การวินิจฉัย โปรแกรมการพัฒนาศักยภาพสมองสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำบกพร่องระยะแรก (Minimal Cognitive Impairment : MCI) โดยจัดกิจกรรมกระตุ้นสมองในผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้ผลดีสามารถชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้อย่างชัดเจน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมได้จัดระบบการดูแลต่อเนื่องทั้งในสถานบริการและชุมชน ให้การดูแลโดยสหวิชาชีพทีมหมอครอบครัว และอบต.สนับสนุนผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Care giver) ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ในช่วงแรก พ.ศ.2562-2564 ได้พัฒนาแนวทางและทดลองดำเนินการใน 4 พื้นที่คือ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี และอ.เมือง จ.นครราชสีมา และขยายผลไปสู่พื้นที่ 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ขณะนี้ ดำเนินการแล้ว 8 พื้นที่ใน 7 เขตสุขภาพ

ซึ่งผู้ป่วยสมองเสื่อมจะต้องมีผู้ดูแล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากญาติในครอบครัวเป็นผู้ดูแลจะมีค่าดูแล ประมาณ 4-6 พันบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ยังไม่ร่วมค่าใช้จ่ายทางอ้อมของผู้ดูแล เช่น ต้องออกจากงานมาดูแล ค่าเสียโอกาส ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของผู้ดูแลและผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่บ้าน โดยมีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความเครียดของครอบครัว สามารถช่วยกันดูแลผู้ป่วยในชุมชนของตนได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม จะสูญเสียความคิด ความจำ ความสามารถในการทำงาน และการตัดสินใจ ในระยะเริ่มต้น จะมีอาการหลงลืม ชอบถามซ้ำๆ คิดคำพูดหรือนึกชื่อคนไม่ออก ทำงานที่ซับซ้อนไม่ได้ ระยะกลางจะมีอาการหลงลืมมากขึ้น นึกถึงชื่อสิ่งของง่ายๆ ไม่ออก อธิบายความต้องการไม่ได้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แย่ลง อาจหลงทาง ต่อมาจะเริ่มมีความผิดปกติของบุคลิกภาพและพฤติกรรม เช่น พูดน้อย แยกตัว อารมณ์ฉุนเฉียว จำญาติสนิทไม่ได้ ระยะสุดท้ายจะเริ่มสับสน ต้องได้รับการช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร  

โดยประชาชนสามารถตรวจคัดกรองผู้สูงอายุเบื้องต้นด้วยตนเอง ด้วยแอปพลิเคชัน "สูงอายุ 5 G" ประกอบด้วย 1.ความรู้ทั่วไป ได้แก่ หนังสือและบทความประชาสัมพันธ์ ภาพความรู้ วีดีโอ และลิงค์ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความรู้และข่าวสารต่างๆ 2.แบบประเมินพื้นฐานด้วยตนเอง ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป และข้อมูลภาวะสุขภาพ 3.แบบประเมินเฉพาะกลุ่มอาการ ได้แก่ ภาวะเปราะบาง ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ