ไม่พบผลการค้นหา
'ประเสริฐ' รองนายกฯ และ รมว.ดีอี ตอบกระทู้สด สว. โชว์ผลงาน AOC 1441 ปราบ 'โจรออนไลน์' พร้อมจัดการระงับแล้วกว่า 300,000 บัญชี ยืนยัน ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน

วันที่ 23 กันยายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นผู้แทน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดของ นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา ถึงความคืบหน้าในการปราบปรามการฉ้อโกงออนไลน์ว่า รัฐบาลและกระทรวงดีอี ตระหนักถึงปัญหาการก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างความเสียให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก และไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการเร่งรัดปราบปรามการหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที

ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานของศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 20 กันยายน 2567 มีสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,037,701 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,193 สาย

2. ดำเนินการระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 311,819 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,102 บัญชี

ในส่วนการระงับบัญชีนั้น แบ่งเป็นตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ 

(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 92,118 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.54 

(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 76,709 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.60 

(3) หลอกลวงลงทุน 50,076 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.06

(4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 24,355 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.81 

(5) หลอกลวงให้กู้เงิน 24,140 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.74 

(และคดีอื่นๆ 40,989 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.13)

กระทรวงดีอี ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการปราบปรามและกวาดล้างมิจฉาชีพที่ก่ออาชญากรรมออนไลน์ พร้อมกับร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล การสร้างความตระหนักรู้ วิธีการป้องกันและรับมือภัยออนไลน์ให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่อง 

S__639399.jpg

ขณะที่การดำเนินการจับกุมมิจฉาชีพที่ก่อคดีนั้น มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยตลอด แต่เนื่องจากว่าการสิ้นสุดคดีของหลายๆคดียังไม่สิ้นสุด และเพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในการปราบปรามเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งขบวนการ ดังนั้นการเปิดเผยบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพจึงมีข้อกำหนดอยู่ อย่างไรก็ตามจากการประสานงานปฏิบัติการร่วมกันของหน่วยงานพันธมิตรสามารถยึดของกลาง เงินสด และทรัพย์สินอื่นๆได้กว่า 10,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยังได้ออกมาตรการเร่งด่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ อาทิ มาตรการ COD การซื้อขายสินค้าออนไลน์โดยเก็บเงินปลายทาง ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ขายจะได้รับเงินต่อเมื่อผู้ซื้อได้ตรวจสอบสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการชะลอการจ่ายเงินเป็นเวลา 5 วัน โดยมาตรการนี้จะช่วยแก้ไขเรื่องการหลอกลวงได้ในระดับที่มีนัยยะ เนื่องจากคดีซื้อขายสินค้าหรือบริการมีการเสียหาย(คดี) มากเป็นอันดับ 1 แต่มูลค่าความเสียหายไม่มากนัก

ด้านประสิทธิภาพในการรับดำเนินคดี ปัจจุบันมีการร้องเรียนเรื่องหลอกลวงมากถึงกว่า 500,000 เรื่อง โดย ตร. สามารถรับเรื่องได้ประมาณ 60,00 เรื่อง ซึ่งเรื่องดังกล่าว จะมีการหารือในการประชุม คกก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อหาแนวทางปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้คดีมีคืบหน้าและรวดเร็ว พร้อมทั้งให้ประชาชนสามารถติดตามสถานะของคดีได้อย่างต่อเนื่อง  

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อสัญญาณบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านนั้น ได้มีการปราบปรามการต่อเนื่อง โดยมีการประสานงานร่วมกับ กสทช. กระทรวงกลาโหม ตร. DSI ปปง. และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในการดำเนินการ ขณะนี้มิจฉาชีพเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมา โดยใช้สัญญาณดาวเทียมที่เกิดจากดาวเทียมโคจรในระยะต่ำ ที่มีจานรับสัญญาณโดยตรง ซึ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ในเรื่องนี้ กสทช. จะดำเนินการแก้ไขต่อไป 

S__639398.jpg

ด้านการปรับปรุงข้อกฎหมายพิเศษต่างๆ ขณะนี้ได้เตรียมเสนอปรับปรุงกฎหมายเรื่องของ การเร่งยกร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับที่ 2 การเร่งคืนเงินให้กับผู้เสียหาย การเพิ่มสิทธิผู้เสียหาย และเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน พรก. การป้องกันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย มาตรฐานความปลอดภัย Cyber Security และการเพิ่มโทษทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับฉ้อโกงประชาชน โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์กลุ่มมิจฉาชีพ ต่างๆได้ 

ขณะเดียวกัน เรื่องของ SMS และ QR Code แนบลิงก์ ที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กระทรวงดีอี ประสานทำงานร่วมกับ กสทช. ธปท. และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้เตรียมร่างข้อกำหนด ระเบียบ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ธนาคาร และผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม SMS จำนวนมากที่มีการแนบลิงก์ดูดเงินหรือลิงก์ผิดกฎหมายต่างๆ โดยเน้นให้เกิดการตัดวงจรขั้นเด็ดขาด 

“กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน  โดยจะเร่งรัดการปราบปรามภัยออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว