ไม่พบผลการค้นหา
'สฤณี' ยินยอมแถลงขอโทษ คดีหมิ่นศาลฎีกา เสียใจใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมในการวิจารณ์ - ศาลนัดพร้อมคู่ความ ฟังผลการพิจารณา ในวันที่ 22 ต.ค. 2562

สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ได้เขียนบทความ “อันตรายของภาวะนิติศาสตร์ล้นเกิน (อีกที) กรณีถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ในเดือน พ.ค. 2562 กระทั่งถูกหมายเรียกจากศาลฎีกา ข้อหาละเมิดอำนาจศาล

10 ต.ค. 2562 น.ส.สฤณี ลงแถลงการณ์ขอโทษ ในเว็บไซต์ Fringer ระบุว่า "ข้าพเจ้าเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นสืบเนื่องจากความสนใจในคดีที่เรียกกันว่า “คดีหุ้นสื่อ” จากการห้ามผู้สมัคร ส.ส. “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” ซึ่งเป็นบทบัญญัติใหม่ที่ปรากฎเป็นครั้งแรกในมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 โดยแบ่งบทความออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 เพิกถอนสิทธิในการรับสมัครเลือกตั้งของคุณภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร ส่วนเนื้อหาครึ่งหลังของบทความมุ่งอธิบายเหตุผลที่ข้าพเจ้าเห็นว่า มาตรา 98(3) ในรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นสื่อ เป็นบทบัญญัติที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคโซเชียลมีเดียที่นักการเมืองและคนอื่นสามารถเป็น “สื่อ” ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องถือหุ้นในกิจการสื่อ อีกทั้งนักการเมืองยังมีวิธีแทรกแซงสื่อมากมายโดยไม่ต้องถือหุ้นแม้แต่หุ้นเดียว และเสรีภาพสื่อก็อาจถูกละเมิดได้โดยหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานรัฐ มิใช่แต่เพียงนักการเมืองเท่านั้น

ข้าพเจ้าหวังว่าผู้ที่ได้อ่านบทความชิ้นนี้จากต้นจนจบจะเห็นว่า ข้าพเจ้าเขียนด้วยความปรารถนาดีต่อกระบวนการยุติธรรม และด้วยความมุ่งหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในอนาคต ทั้งการตีความเรื่องการถือครองหุ้นสื่อตามมาตรา 98(3) อย่างรัดกุม และการหาฉันทามติในสังคมเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรานี้ต่อไปในอนาคต เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อสิทธิและทางเลือกของประชาชนในการเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ในบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าใช้คำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ในการบรรยายลักษณะคำวินิจฉัยที่ข้าพเจ้าวิจารณ์ในส่วนแรกของบทความ เมื่อข้าพเจ้าได้รับหมายเรียกของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในคดีนี้ ส่งผลให้ข้าพเจ้าตระหนักว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นคำที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็น ทำให้ผู้อ่านบางท่านเกิดความเข้าใจผิดในเจตนาของข้าพเจ้า ทั้งที่มิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วง ดูหมิ่น หรือโจมตีสถาบันศาล หรือตุลาการท่านใดเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด และหากถอนคำดังกล่าวออกจากบทความแล้ว สาระสำคัญก็จะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ในฐานะผู้เขียนบทความซึ่งมิได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ใดหรือสถาบันศาลเสียหาย ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความเสียใจและขอประทานโทษต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมในการวิจารณ์ และประสงค์จะถอนคำว่า “มักง่าย” และ “ตะพึดตะพือ” ออกจากบทความดังกล่าว

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าข้าพเจ้ามีเจตนาที่จะวิจารณ์คำตัดสินของศาลโดยสุจริตใจ ด้วยความปรารถนาดีต่อกระบวนการยุติธรรมและยึดมั่นในประโยชน์สาธารณะ ข้าพเจ้ายอมรับความผิดพลาดที่เลือกใช้คำไม่เหมาะสมในการเขียนบทความ และจะเขียนด้วยความรัดกุมและระมัดระวังกว่าเดิมในอนาคต ด้วยความเคารพต่อศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยจะนำแถลงการณ์ฉบับนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เพื่อชี้แจงต่อสาธารณะด้วย"

11 ต.ค. 2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลได้นัด น.ส.สฤณี (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1) และ นายยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) และผู้กล่าวหา ได้แก่ นายสุประดิษฐ์ จีนเสวก อดีตเลขานุการแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา มาเพื่อตรวจรับและปรับแก้บทความชี้แจง

เมื่อผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบบทความชี้แจงแล้ว เสนอให้มีการปรับแก้บางส่วนในบทความ เกี่ยวกับการยืนยันถึงการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลที่คดีเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งทางผู้ถูกกล่าวหาได้ยอมรับการปรับเปลี่ยนตามที่ทางผู้กล่าวหาได้เสนอ ในส่วนของนายยุทธนา ได้แสดงความรับผิดชอบโดยให้ น.ส.สฤณี ใช้พื้นที่บนสื่อออนไลน์และสื่อหนังสือพิมพ์ของกรุงเทพธุรกิจ เพื่อเผยแพร่บทความชี้แจงนี้

เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ตามนี้ ศาลจึงได้มีคำสั่งให้นายยุทธนา เผยแพร่บทความชี้แจงของ น.ส.สฤณี บนพื้นที่สื่อเว็บไซต์เป็นเวลา 7 วัน และเผยแพร่บทความชี้แจงในหนังสือพิมพ์เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน เพื่อตรวจสอบว่าทางผู้ถูกกล่าวหาได้ทำการเผยแพร่บทความแล้ว ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมคู่ความอีกครั้ง เพื่อฟังผลการพิจารณาของศาลในวันที่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 9.30 น.