เรื่องที่หนึ่ง “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน”
เหตุการณ์ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2561 สหรัฐฯ กับ จีน ทำสงครามการค้ากันอย่างดุเดือด มีการเพิ่มกำแพงภาษีต่อกันแบบตอบโต้กันเดือนต่อเดือน ทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักไม่เพียงแต่ต่อการค้าของทั้งสองประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก จนหลายประเทศผลักดันให้จีนกับสหรัฐฯ นั่งจับเข่าคุยกัน หรือเจรจากันดีๆ แต่การเจรจารอบแล้วรอบเล่าก็ไม่เป็นผลเท่าใดนัก
ผู้นำกลุ่มสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ตั้งวเส้นตายหรือจุดยุติว่าจะยุติการทำสงครามการค้ากับจีนเมื่อไร ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะทำข้อตกลงทางการค้ากับจีนเมื่อไร และการแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากับจีนว่าจะเริ่มเมื่อไรนั้น เขาขอให้คำตอบหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผ่านพ้นไปก่อน ซึ่งนั่นคือช่วงปลายปี 2563 เลยทีเดียว คำประกาศประกาศของทรัมป์ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตื่นตระหนก ฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วโลกย่ำแย่ลงไปอีกอย่างน่าตกใจ
จึงน่าจับตาว่า ในปี 2563 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะดำเนินไปอย่างไร จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอีกแค่ไหน หรือจะมีจุดหักเหที่ทำให้จบได้สวยหรือไม่
เรื่องที่สอง “การเมืองเรื่องอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป”
เป็นประเด็นที่ยืดเยื้อเรื้อรังในการเมืองอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2553 ในสมัยที่เดวิด คาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เขาเผชิญกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของอังกฤษชะลอตัวไม่เติบโต ในขณะเดียวกับที่นักการเมืองส่วนหนึ่งก็กล่าวโทษว่าเศรษฐกิจอังกฤษย่ำแย่เพราะการผูกมัดตัวเองอยู่ในสหภาพยุโรปหรืออียู และได้มีการเรียกร้องกดดันให้อังกฤษลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเสีย เพื่อตัดความรำคาญเดวิด คาเมรอน จึงประกาศว่าถ้าเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สองเขาจะจัดให้มีการลงประชามติเรื่องนี้ คือให้ประชาชนตัดสินว่าจะให้อังกฤษคงอยู่ในสหภาพยุโรป(Bremain) หรือออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งเขาได้เป็นนากยกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สองจริง จึงได้จัดทำประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 โดยเขามั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะให้อังกฤษคงอยู่ในสหภาพยุโรป แต่ผลประชามติกลับเป็นตรงข้าม และฉุดทั้งค่าเงินปอนด์ของอังกฤษและตลาดหลักทรัพย์ให้ดิ่งค่าลงอย่างน่าตระหนก
ประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปกลายเป็นปัญหาอลเวงในการเมืองภายในของอังกฤษนับตั้งแต่นั้นมา โดยหลังแพ้ประชามติ เดวิด คาเมรอน แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง แล้วเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นนางเทเรซ่า เมย์ ด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถจัดการให้รัฐสภายกเลิกการออกจากสหภาพยุโรปได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายเทเรซ่า เมย์ ก็ทำไม่สำเร็จแล้วต้องลาออกไป จนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปตกอยู่กับ บอริส จอห์นสัน ผู้มีแนวคิดต่อต้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดของอังกฤษเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา บอริส จอห์นสัน สามารถนำพรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียง 326 ที่นั่ง ถือเป็นชัยชนะที่ถล่มทะลาย นั่นทำให้ความไม่แน่นอนที่ว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่นั้นได้หมดไป บอริส จอห์นสัน ประกาศว่าเขาจะนำพาประเทศออกจากสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 มกราคม 2563
ดังนั้น ปีหน้านี้ จึงเป็นปีที่ต้องจับตาว่าอังกฤษหลังออกจากสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไร และสหภาพยุโรปที่ไม่มีอังกฤษจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั่วโลกหรือไม่
เรื่องที่สาม “การประท้วงในฮ่องกง”
สถานการณ์ในฮ่องกงลุกลามจากเหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน ที่ชาวฮ่องกงชุมนุมประท้วงเพื่อคัดค้านการที่สภานิติบัญญัติของฮ่องกงจะออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน การชุมนุมประท้วงลุกลามอย่างรวดเร็ว จากจำนวนผู้ชุมนุมไม่กี่ร้อยคนในวันแรกเพิ่มเป็นหลายแสนคนในเวลาเพียงวันเดียว และมีผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนล้อมอาคารสภานิติบัญญัติของฮ่องกง นำไปสู่การที่ทางการฮ่องกงต้องประกาศว่าจะชะลอการนำร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ ถึงกระนั้นสถานการณ์ก็เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เพราะความไม่พอใจที่ชาวฮ่องกงมีต่อรัฐบาลจีนที่สั่งสมและเก็บกดมาอย่างยาวนานได้ปะทุออกมาเหมือนถังน้ำมันที่ระเบิดเมื่อมีคนทิ้งก้นบุหรี่ใส่ ยิ่งทางการฮ่องกงใช้ความรุนแรงในการปราบปรามสลายการชุมนุมจนถึงขั้นใช้กระสุนจริง และมีการจัดม็อบที่สนับสนุนรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์มาชนกับม็อบสนับสนุนเสรีภาพของฮ่องกง สถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจฮ่องกงย่ำแย่ และคนฮ่องกงจำนวนมากที่ตระหนักว่าสู้อำนาจอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาลจีนไม่ไหว เริ่มอพยพออกจากฮ่องกง
ปี 2563 เป็นปีที่ต้องจับตาว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะเป็นอย่างไรต่อไป หากการวาดฝันถึงเอกราชหรือประชาธิปไตยเป็นเรื่องเกินจริง ก็คงต้องจับตาดูว่าฮ่องกงจะรักษาความเป็นหนึ่งประเทศของระบบกับจีนเอาไว้ได้ จะรักษามนต์เสน่ห์ของฮ่องกงในฐานะเมืองที่เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคเหมือนในอดีตได้หรือไม่ หรือจะถูกจีนบดขยี้จนราบคาบ
เรื่องที่สี่ “การเลือกตั้งสหรัฐฯ”
ปี 2562 เป็นปีที่สหรัฐฯ เตรียมการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปลายปี 2563 อย่างคึกคัก พรรคโมแครตเดินหน้าคัดเลือกผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ทั้งนี้ มีนักการเมืองสังกัดพรรคเดโมแครตจำนวนมากถึง 23 คน ได้เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งตำแหน่งผู้แทนพรรคมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น บรรดาผู้เสนอตัวทั้ง 23 คนนั้น มีนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน คือ ให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคม และมีภูมิหลังคล้ายๆกัน คือ ล้วนเป็นวุฒิสมาชิกหรือไม่ก็นายกเทศมนตรีเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่พวกเขาต่างมีจุดแข็งจุดเด่นที่แตกต่างหลากหลาย จนนักวิเคราะห์การเมืองของสหรัฐกล่าวว่า เป็นครั้งที่ผู้เสนอตัวมีความหลากหลายมากที่สุด ทั้งเรื่องประสบการณ์การทำงาน วัย เพศสภาพ และเชื้อชาติ
อย่างไรก็ตาม พรรคเดโมแครตยังไม่สรุปว่าจะส่งใครเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเป็นใคร และพรรคเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ หรือประธานาธิบดีทรัมป์จะยังคงเป็นประธานาธิบดีต่อไปเป็นสมัยที่สอง ซึ่งผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงสำคัญต่อประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น แต่มันหมายถึงการคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงของนโยบายของสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อโลกทั้งโลก
เรื่องที่ห้า “การอุบัติใหม่ของสงครามเย็น”
วันที่ 24 ธันวาคม 2562 รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียได้แถลงอย่างเป็นทางการว่ากองทัพรัสเซียได้นำระบบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงในระดับสูงหรือไฮเปอร์โซนิก ในชื่อ “อาวอนการ์ด” (Avangard) เข้าประจำการในกองทัพแล้ว หลังจากนั้นประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้แถลงว่า “อาวอนการ์ด” เป็นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ถึง 2 เมกะตัน มีความเร็วเหนือเสียง 20 เท่า สามารถทะลวงผ่านระบบป้องกันขีปนาวุธทุกชนิดที่มีในโลกในปัจจุบัน
การแถลงของรัสเซียในครั้งนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า รัสเซียพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปมาเช่นนี้เพื่ออะไร ตามแผนยุทธศาสตร์จะยิงข้ามทวีปไปสู่เป้าหมายใด ความเคลื่อนไหวของรัสเซียจึงสร้างความตึงเครียดให้สถานการณ์ความมั่นคงของโลกอย่างมาก นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่าสหรัฐฯและจีนจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย แต่จะพัฒนาขีปนาวุธขึ้นมาแข่งเช่นกัน และนี่อาจจะเป็นการอุบัติใหม่ของสงครามเย็นที่เคยยุติไปแล้วพร้อมการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
เมื่อมองจาก 5 เรื่องร้อนแรงในปีนี้ ที่ต้องจับตาดูถึงปีหน้า จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์โลกในปี 2563 จะร้อนแรงมิใช่น้อย