บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดโครงการ Wheel Share Journey จัดประกวดออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการ เพื่อค้นหาต้นแบบรถเข็นที่เหมาะสมกับการใช้งานในสถานที่ท่องเที่ยว โดยตัวโครงการเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 25562 และมีนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 287 ทีม ก่อนจะคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้ายเพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวนที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี
ทั้งนี้ 10 ทีมสุดท้ายรอบชิงชนะเลิศ ต้องผลิตรถเข็นต้นแบบและนำมาใช้ทดสอบในสนามจำลองที่สามารถพบเจอได้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นลาดชัน ทางซิกแซก พื้นผิวขรุขระ พื้นทราย ขณะที่เกณฑ์ในการตัดสินจะให้น้ำหนักสำคัญจากความสามารถในการนำไปใช้งานได้จริงเป็นหลัก รวมไปถึงเรื่องของการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทานของอุปกรณ์ที่นำมาผลิตรถเข็น
ขณะที่คณะกรรมการตัดสินมีนักกีฬาพาราลิมปิกไทย คือ คุณสายสุณีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนพิการทีมชาติไทย คุณเธียร ทองลอย นักกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทีมชาติไทย และคุณชนันท์กานต์ เตชะมณีวัฒน์ นักกีฬาวีลแชร์เทนนิสคนพิการทีมชาติไทย มาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน
คุณเธียร ทองลอย อดีตนักกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทีมชาติไทย และคณะกรรมการการตัดสินในครั้งนี้กล่าวว่า ประทับใจกับผลงานของนักศึกษาแต่ละทีม สิ่งสำคัญคือโครงการนี้ทำให้มองเห็นว่าสังคมเปิดรับผู้พิการมากขึ้น
“คนพิการไม่ใช่ภาระแต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถนนหนทาง ทางขรุขระ ทางลาดชัน ทั้งหมดนี้ควรถูกปรับปรุงเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพื่อนๆ คนพิการหลายคนยอมรับตัวเองไม่ได้เลยเก็บตัวอยู่ในบ้าน อยากให้เขาออกมาเจอสังคม เพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันนี้เปิดรับมากขึ้นแล้ว”
อดีตนีกกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทิ้งท้ายพร้อมบอกว่า สิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และความตระหนักถึงคนพิการจากบรรดาเยาวชน จะทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับทีมชนะเลิศ คือ ทีม MEC_T จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท ทีมอันดับที่ 2 คือ Mega chance จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และอันดับที่ 3 คือ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับเงินรางวัล 60,000 บาท และในส่วนของรถเข็นต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปพัฒนาต่อเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย
ด้าน คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า Wheel Share Journey เป็นโครงการที่อยากให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาส 'คิดนอกกรอบ' และถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
“โครงการนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น จากวันนี้นักศึกษาก็จะสามารถนำความคิดไปต่อยอดได้ ไม่เพียงแต่ผู้พิการ แต่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้วีลแชร์เช่นกัน เกณฑ์ในการตัดสินวันนี้ให้น้ำหนักไปที่การใช้งานจริง รวมถึงการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทาน”
ทังนี้หลังจากได้ผู้ชนะแล้ว คุณจุตินันท์กล่าวว่าจะร่วมกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำรถเข็นต้นแบบของทีมที่ชนะไปผลิตเป็นของจริง โดยทางมูลนิธิจำนงค์ ภิรมย์ภักดี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำการผลิตชุดแรก เพื่อส่งมอบให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และสถานที่ที่สนใจอยากได้ก็สามารถติดต่อมายังโครงการเพื่อขอรับรถเข็นได้
“ผมเชื่อว่าเมื่อเราเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกเยอะ” กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทิ้งท้าย