ไม่พบผลการค้นหา
บรรดาธนาคารรายใหญ่ของญี่ปุ่น พากันลดจำนวนรับเด็กจบใหม่เข้าเป็นหนักงาน จากเดิมที่มีการรับปีละหลายพันคนในช่วงฤดูใบไม้ผลิของทุกปี จากการเติบโตของการทำธุรกรรมออนไลน์ เทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่งานเดิมๆ และการเปลี่ยนไปของคุณสมบัติที่มองหาจากพนักงานธนาคาร

จำนวนพนักงานนักศึกษาจบใหม่ที่คาดการณ์ว่าจะรับในเดือนเมษายน 2020 ของ 3 ธนาคารใหญ่ในญี่ปุ่น ได้แก่ธนาคารมิตซูบิชิยูเอฟเจไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือเอ็มยูเอฟจี (Mitsubishi UFJ Financial Group: MUFG) ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่นแบงกิงคอร์โปเรชัน หรือเอสเอมบีซี (Sumitomo Mitsui Banking Corporation: SMBC) และมิซูโฮไฟแนนเชียลกรุ๊ป (Mizuho Financial Group) รวมกันแล้ว อยู่ที่ประมาณ 1,700 คน ลดลง 27 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ซึ่งทั้งสามบริษัทรับพนักงานใหม่รวม 2,327 คน

ทั้งนี้ MUFG มีแผนจ้างพนักงานใหม่เพียง 530 คน ลดลง 44.7 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน ขณะที่ SMBC และมิซูโฮลดลงราว 10 และ 20 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ นี่เป็นครั้งแรกที่จำนวนรับพนักงานใหม่ประจำปีของธนาคารลดลงต่ำกว่า 2,000 นับตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งภาคธนาคารของญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้สิน

อย่างไรก็ตาม การจ้างงานโดยรวมของธุรกิจนอกภาคการเงินและธนาคารเพิ่มขึ้น 1.1 เปอร์เซ็นต์

นิกเคอิเอเชียนรีวิว ชี้ว่าการลดจำนวนรับพนักงานใหม่นี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารญี่ปุ่น ซึ่งมีการที่ญี่ปุ่นประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบตั้งแต่ปี 2016 เป็นปัจจัยเร่ง และยังถูกขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือออนไลน์แบงกิง

จากการที่ผู้ใช้บริการไปธนาคารเพื่อทำธุรกรรมกันน้อยลง ธนาคารก็มีความจำเป็นต้องจากพนักงานธนาคารน้อยลง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการที่เดินทางไปทำธุรกรรมที่ธนาคารนั้นลดลงราว 30-40 เปอร์เซ็นต์สำหรับทั้ง 3 ธนาคารเจ้าใหญ่ กลายเป็นเทรนด์ที่นำไปสู่การปิดสาขาธนาคารให้น้อยลง

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารแต่ละสาขาเองก็ใช้ทรัพยากรมนุษย์ลดลงในการดำเนินงานเรื่องจากเทคโนโลยีได้เข้ามาทำงานในส่วนต่างๆ ให้กลายเป็นอัตโนมัติ จึงมีแนวโน้มน้อยที่ธนาคารเหล่านี้จะกลับมาปรับรับพนักงานใหม่เพิ่มในปี 2021 เป็นต้นไป

สำหรับประเทศไทยเอง การปิดสาขาก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่าในเดือนมกราคมปี 2559 ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ 7,065 สาขา แต่ในเดือนเดียวกันปี 2562 นี้เหลือเพียง 6,729 ลดลงไปทั้งสิ้น 336 สาขา

ทางนิกเคอิเอเชียนรีวิว ยังชี้อีกว่านอกจากออนไลน์แบงก์กิง และเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้งานเป็นอัตโนมัติแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่บรรดาธนาคารลดจำนวนการจ้าง เป็นเพราะธนาคารกำลังมุ่งไปสู่พื้นที่ทางธุรกิจใหม่ๆ ไม่ได้เพียงหาพนักงานที่ทำงานร่วมกันกับทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องการทัศนคติแบบผู้ประกอบการด้วย

"สมัยเรายังเด็กลักษณะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในพนักงานหน้าใหม่คือความเร็วในการจัดการงานออฟฟิศ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครมองหาทักษะแบบนั้นแล้ว" พนักงานระดับผู้บริหารของหนึ่งในธนาคารเจ้าใหญ่ กล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนกับนิกเคอิเอเชียนรีวิว

ทุกวันนี้ ธนาคารญี่ปุ่นมุ่งจ้างพนักงานที่มีทักษะเฉพาะทาง โดยในเดือนเมษายนปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ ธนาคาร MUFG เปิดสายงานใหม่สำหรับผู้ที่ศึกษาเทคโนโลยีการเงินมา เครือซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือเอสเอ็มเอฟจี (Sumitomo Mitsui Financial Group: SMFG) ก็เริ่มเปิดรับหลายตำแหน่งสำหรับพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ทางมิซูโฮ ก็มองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ มิซูโฮได้ประกาศนโยบายใหม่ให้พนักงานธนาคารทำงานเสริมได้ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยหวังว่าจะช่วยให้พนักงานได้พบความท้าทาย โอกาส และประสบการณ์ใหม่ๆ ภายนอกเครือบริษัทธนาคารและนำมาสู่การสร้างบริการทางการเงินใหม่ๆ โดยได้มีการเริ่มทดลองให้พนักงานไปทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตสัปดาห์ละหนึ่งวันบ้างแล้ว

"หากคนรุ่นใหม่ได้ทำงานในบริษัทด้านนวัตกรรมแล้วกลับมาหลังจากเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ ล้ำสมัย ก็จะนำไปสู่ธุรกิจที่ดีขึ้นสำหรับมิซูโฮ" ทัตสึฟุมิ ซากาอิ ประธานวัย 59 ปี ของเครือบริษัทมิซูโฮกล่าว

ขอบเขตที่ธนาคารญี่ปุ่นขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้นั้น รวมไปการทำธุรกรรมไร้เงินสด การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า และเทรนด์อื่นๆ เมื่อบรรดาธนาคารรายใหญ่เหล่านี้เบนเข็มจากการพัฒนาทุกอย่างภายในบริษัทตัวเอง และมุ่งทำงานร่วมกับธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร พนักงานในอุดมคติจึงไม่ใช่ผู้ที่สามารถนำประชุมภายในบริษัทได้อย่างชาญฉลาดเท่านั้นอย่างที่เป็นมาอีกต่อไป

"สิ่งที่เรากำลังมองหาในตัวพนักงานใหม่ คือความคิดเปิดกว้างในการจินตนาการโครงสร้างธุรกิจใหม่ๆ" ผู้บริหารธนาคารอีกรายหนึ่งกล่าว

ที่มา: JIJI / NikkeiAsianReview / JapanTimes

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: