ไม่พบผลการค้นหา
เวลา 15.00 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม 2564 อาจเป็นช่วงเวลาที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระทึกใจที่สุด

เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะชี้ชะตาว่า 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ควรเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ต่อไป

หรือ เขาควรยุติบทบาทการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เพราะเหตุผลที่ “เลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป” ที่เขาสวมบทเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อมาอาศัยใต้ชายคาพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ 'ไพบูลย์' สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “ไพบูลย์” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีสโลแกนว่า “น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชน คืองานหลักของพรรคประชาชนปฏิรูป”

จนโหวตเตอร์ต่างเรียกชื่อเล่นของพรรคว่า “พรรคพระพุทธเจ้า”

หลังการเลือกตั้งทั่วไปยุติลงพรรคของ “ไพบูลย์” กวาดคะแนนจากพุทธศาสนิกชน 45,508 คะแนน ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะใช้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม แบบปัดเศษ ทำให้พรรคประชาชนปฏิรูป กลายเป็น 1 ในพรรคปัดเศษ แม้มีคะแนนไม่ถึง 7 หมื่นคะแนน แต่หัวหน้าพรรคก็ได้เป็น ส.ส.

ไพบูลย์ 0309_9.jpg

เมื่อพรรคพลังประชารัฐรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นอันดับหนึ่ง 19 พรรค พรรคประชาชนปฏิรูปก็เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ชูมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

และ “ไพบูลย์” นี่แหละ ที่เป็น “คนแรกของคนแรก” ที่ประกาศว่าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ คนกลาง ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ขณะนั้นเขาเป็น ส.ว.สรรหา ขึ้นเวที กปปส.

หลังรัฐประหารได้ 2 วัน 24 พ.ค. 2557 “ไพบูลย์” ก็ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีสภาปฏิรูปและ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะเป็นบุคคลที่มีความสามารถ – น่าชื่นชม

‘ไพบูลย์’ ได้เป็น 1 ใน 250 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ เป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก่อนที่จะถูกคว่ำไปในปี 2558

ต่อมาหลังจากมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไพบูลย์ไม่ได้ไปต่อในสภา แต่เวทีนอกสภาเขาเป็นหัวหอกในการล้มอาณาจักรธรรมกาย

เขาตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ขึ้นมาลงสนามการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 อย่างสุดกำลัง และเขาก็เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

ไพบูลย์.jpg

แต่แล้ว 5 ส.ค. 2562 ไพบูลย์ ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอยกเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป เขาบอกเหตุผลหลังการยกเลิกพรรคว่า

“พอดำเนินการพรรคไป ผลการเลือกตั้งออกมาเราได้เพียง ส.ส.คนเดียวคือผมในฐานะหัวหน้าพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 31 คน มี 10 กว่าคนหวังว่าจะได้เป็น ส.ส. แต่พอไม่ได้เป็น ส.ส.หลายคนมีภารกิจที่ต้องทำจึงลาออก หลายคนก็จะลาออกต่อ ถ้าปล่อยไปอีกไม่นานก็ต้องผิดกฎหมาย พรรคจะถูกเลิก ถ้าไม่เลิกตอนนี้วันข้างหน้าจะยุ่งไปอีก เพราะมีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเข้ามาอีก ดังนั้น เมื่อตัดสินใจเลิกตอนนี้ก็คืนเงินทุกบาท ทุกสตางค์กลับคืนไป” 

“เป็นเรื่องธรรมดามาก หัวหน้าพรรคทำงานคนเดียวไม่ได้ แล้วผมก็ต้องย้ายไปพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว เพราะนโยบายตรงกันหมด เช่น นโยบายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มวลชนที่เลือกเรา มาร่วมอุดมการณ์กับเรา ก็นิยมชมชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การไปอยู่พลังประชารัฐจึงถูกต้อง และไปอยู่ไม่ต้องทำงานธุรการ แต่ไปทำเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว”

ไพบูลย์ พลังประชารัฐ 10222_21.jpg

6 ก.ย. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ก็ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ ลงนามโดย อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. จากนั้น 9 ก.ย. 2562 เขาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อย

กลายเป็นต้นตำหรับ “ไพบูลย์โมเดล” เปิดทางให้พรรคเล็ก 2 พรรค ทำตาม คือ พรรคพลังชาติไทย และพรรคประชานิยม ยุบพรรคตนเองแล้วเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

กระทั่ง 26 ธ.ค. 2563 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงรวบรวม ส.ส. 60 คน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้วินิจฉัย “ไพบูลย์โมเดล” ที่อาศัยแท็คติกรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคตัวเอง ย้ายพรรคซบพรรคใหญ่ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะ “ไพบูลย์” กลายเป็น ส.ส.ไส้ติ่งของพรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ที่ยุบพรรคพลังชาติไทย พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ที่ยุบพรรคประชานิยม เพิ่มจำนวน “ส.ส.ไส้ติ่ง” ในพรรคพลังประชารัฐ

ไพบูลย์ พลังประชารัฐ ประชุมสภา_201117_9.jpg

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจออกมาเป็น 2 ทาง

ทางแรก หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่าสมาชิก ส.ส.ของทั้ง 3 คน ต้องพ้นไป พร้อมทั้งคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากการเป็น ส.ส.ให้กับแผ่นดิน ปิดตำนาน “ไพบูลย์โมเดล”

ทางที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวไม่ขัด - ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ไพบูลย์ และอีก 2 คน ยังเป็น ส.ส.ต่อไป แถมยังเปิดทางให้ ส.ส.พรรคเล็กปัดเศษ ที่กำลังเดือดร้อนหากเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบ ตัดสินใจยุบพรรคตาม “ไพบูลย์โมเดล” มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ได้อย่างสะดวกโยธิน

เพราะศาลรัฐธรรมนูญตั้งบรรทัดฐานเอาไว้ 15.00 น.วันที่ 20 ต.ค. คดี “ไพบูลย์” จะเป็นอย่างไรเดี๋ยวรู้กัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง