ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยกมาตรฐานธนาคารโลก ชี้แจงข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย หลัง CS Global Wealth Report เผยไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ชี้แจงข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ภายหลังสังคมออนไลน์เผยเเพร่ข้อมูลอ้างอิงจาก CS Global Wealth Report 2018 ที่ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก

โดย สศช. ระบุว่า ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ดังนี้

1.ที่ผ่านมาการวัดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทย จะใช้วิธีการวัดตามมาตรฐานของธนาคารโลก โดยวัดจากดัชนี GINI Coefficient Index ซึ่งธนาคารโลกใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ ประมาณ 110 ประเทศ โดยดัชนี GINI มี 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) GINI ด้านรายได้ และ 2) GINI ด้านรายจ่าย โดยค่าดัชนีดังกล่าวจะมีค่าระหว่าง 0 – 1 โดยหากค่าดัชนี GINI มีระดับต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับดีกว่าค่า GINI ที่มีค่าสูง 

ในกรณีของประเทศไทย การคำนวณค่าดัชนี GINI ทั้ง 2 ลักษณะ จะใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นข้อมูลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในระดับฐานรายได้ต่าง ๆ กัน จำนวนประมาณ 52,010 ครัวเรือน ซึ่งการสำรวจรายได้จะดำเนินการทุก 2 ปี ขณะที่ การสำรวจรายจ่ายจะดำเนินการทุกปี

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2560 พบว่า ค่า GINI ด้านรายได้ของไทย คิดเป็น 0.453 หรือร้อยละ 45.3 และค่า GINI ด้านรายจ่าย คิดเป็น 0.364 หรือร้อยละ 36.4 โดยหากเปรียบเทียบแนวโน้มของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยค่า GINI ด้านรายได้ลดลงจาก 0.499 ในปี 2550 เป็น 0.453 ในปี 2560 และค่า GINI ด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.398 ในปี 2550 เป็น 0.364 ในปี 2560

นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่าในปี 2550 เป็น 19.29 เท่า ในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงที่สุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่า ในปี 2560

จากข้อมูลทั้ง 2 ส่วนข้างต้น แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงไปสู่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

2.การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยธนาคารโลก ใช้ค่าดัชนี GINI coefficient เป็นตัวชี้วัด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ประเทศไทยมีค่าดัชนี GINI coefficient ด้านรายจ่าย อยู่ในอันดับที่ 46 จาก 73 ประเทศ และปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศในปี 2558 โดยจำนวนประเทศในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก 

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลก ค่า GINI ของไทยอยู่ที่ 0.36 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหราชอาณาจักร มีค่า GINI อยู่ที่ 0.33 และสหรัฐอเมริกา มีค่า GINI อยู่ที่ 0.41 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากกับประเทศที่พัฒนาแล้ว 

3.สำหรับกรณีการวัดความเหลื่อมล้ำของรายงาน CS Global Wealth Report 2018 นั้น เป็นการวัดการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) โดยใช้ข้อมูล Wealth Distribution ซึ่งจากรายงานดังกล่าวประเทศที่มีข้อมูล Wealth Distribution สมบูรณ์มีเพียง 35 ประเทศ และทั้ง 35 ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ และจีน

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูล Wealth Distribution ไม่มีการจัดเก็บ เนื่องจากในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องมีความชัดเจนของคำจำกัดความและข้อมูลข้อเท็จจริงของสินทรัพย์ที่มีความชัดเจน ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าในส่วนของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติ บนสมมติฐานว่าการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) มีความสัมพันธ์กับการกระจายรายได้ (Income Distribution) ซึ่งการคำนวณในลักษณะดังกล่าวในรายงานระบุไว้ชัดเจนว่าการประมาณการ Wealth Distribution ของ 133 ประเทศที่นอกเหนือจาก 35 ประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์เป็นการประมาณการอย่างหยาบ (Rough Estimate)

สำหรับประเทศที่มีข้อมูลการกระจายรายได้ (Income Distribution) แต่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง (Wealth Ownership) ในกรณีของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 133 ประเทศที่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่งแต่มีข้อมูลการกระจายรายได้ 

นอกจากนั้น การประมาณการ Wealth Distribution ของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานได้ใช้ข้อมูลในปี 2549 (2006) ในขณะที่ข้อมูลของประเทศอื่น ๆ เป็นข้อมูลของปีที่มีความแตกต่าง หลากหลายกันไป ซึ่งต่างจากชุดข้อมูลของธนาคารโลกที่ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบในช่วงปีเดียวกัน ดังนั้น การวัดการกระจายความมั่งคั่งตามที่ปรากฎในรายงานดังกล่าวอาจไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการวัดจากข้อมูลสำรวจจริงตามมาตรฐานของธนาคารโลกที่ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2531

ดังนั้น สศช. จึงชี้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยจากการสำรวจข้อมูลจริงและใช้วิธีการวัดที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยธนาคารโลก ประเทศไทยมิได้มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดอย่างที่ปรากฏข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์แต่อย่างใด ในทางกลับกันสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านรายได้และรายจ่ายของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

อย่างไรก็ดี การลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านกลไกของภาครัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย 

โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการกระจายรายได้ ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้น้อยที่สุด ที่ไม่เกิน 15 เท่า (ปัจจุบัน 22 เท่า) ภายในปี 2580 หรือมีค่า GINI coefficient ด้านรายได้ในระดับ 0.36 

นายกฯ ไม่สบายใจ-ข้อมูลคลาดเคลื่อน

ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามข่าวที่ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก แล้วรู้สึกไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลที่ปรากฏอาจคลาดเคลื่อนและไม่สมบูรณ์ อีกส่วนหนึ่งเพราะคนไทยบางคนมองประเทศตัวเองว่าย่ำแย่ ทำให้คนส่วนใหญ่เสียกำลังใจ


"นายกฯ ยอมรับว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่จริงเช่นเดียวกับหลายประเทศ ถือเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและมีรายได้น้อย เมื่อเทียบกับนักธุรกิจหรืออาชีพอิสระอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่า รัฐบาลจึงได้ประกาศลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นวาระเร่งด่วน และบรรจุไว้ในแผนปฏิรูประยะยาว" นายพุทธิพงษ์ กล่าว


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ห่วงใยผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 11 ล้านคนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการคือการจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ของรัฐให้แล้ว 61 จังหวัด เนื้อที่รวมกว่า 317,000 ไร่ และมีแผนจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ธุรกิจรายย่อย ปฏิรูประบบภาษีและกระจายการถือครองที่ดิน และยกระดับคุณภาพชีวิตทุกด้าน ซึ่งถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่จะค่อย ๆ เห็นผลทุก 5 ปี จึงขอให้คนไทยทุกคนเข้าใจสถานะประเทศ พัฒนาตนเอง และร่วมมือกับภาครัฐผลักดันบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า

กอบศักดิ์ เผยข้อมูลเก่า ไร้ความน่าเชื่อถือ 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า ข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของเครดิตสวิสที่ทุกคนพูดถึงนั้น ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะอ้างอิงจากข้อมูลความเหลื่อมล้ำเก่า เมื่อปี 2549 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาของนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญาและคณะ ในปี 2551 ที่ได้สอบถามผู้เขียนแล้วพบว่า ใช้ข้อมูลความมั่งคั่ง เพียงแต่ในส่วนของบัญชีเงินฝากเท่านั้น ในส่วนของหุ้น ที่ดิน และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวเงินนั้น ไม่ได้รวมอยู่ด้วย และทางเครดิตสวิสได้ประมาณการเพิ่มเติมต่อมาอีก 12 ปี ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดได้มาก

นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และความมั่งคั่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศประสบอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายต่างๆ เช่น ดูแลพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเป็นระบบ การจัดสวัสดิการประเภทใหม่ๆ เช่น สวัสดิการเด็กเล็กระหว่าง 0-3 ขวบ 600 บาท/เดือน การเพิ่มเงินเลี้ยงชีพให้ผู้สูงอายุ การจัดตั้งกองทุนลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การช่วยเกษตรกรผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ การจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบ รวมถึงการออกกฎหมายภาษีสำคัญเช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน กฎหมายขายฝากเป็นครั้งแรก และการพยายามขยายฐานภาษี เพื่อกระจายรายได้จากคนที่มีรายได้สูงไปให้ผู้มีรายได้น้อย 

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวดีขึ้น ราคาข้าวสูงสุดในรอบหลายๆ ปี แต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้และเกษตรกรบางกลุ่มของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ฐานรากบางส่วนยังลำบาก โดยเฉพาะผู้ปลูกยางพารา จากราคายางโลกและราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของอียู (EU) ที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง ซึ่งมาตรการล่าสุดของรัฐบาลก็น่าจะช่วยบรรเทาไปได้บางส่วน

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยต้องช่วยสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งที่แท้จริงจากฐานราก คือการให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่ทุกคน โดยเฉพาะด้านการศึกษา การหางาน และการเข้าถึงแหล่งเงิน ลดการใช้อำนาจของรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย ซึ่งถ้ารัฐบาลมีหน่วยงานกลางที่ต่อสู้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง (เหมือนกรณีที่มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำทุกในระบบ) ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆของรัฐและช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งในระยะยาวได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: