พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้ยกเลิกพลทหารรับใช้ ว่า เรื่องนี้ยกเลิกอยู่แล้ว แต่พลทหารที่ไปจะต้องสมัครใจ ถ้าไปอยู่กับผู้บังคับบัญชา ทุกคนต้องสมัครใจทำไมสมัครใจไปไม่ได้ ทั้งนี้ตนเองยังไม่ทราบในรายละเอียด เกี่ยวกับการขอตัวพลทหารไปรับใช้ แต่ขณะนี้ระเบียบค่อนข้างที่จะชัดเจน เรื่องนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบอยู่ และไม่จำเป็นจะต้องตรวจสอบไปยังกรมกองต่างๆว่ามีการขอยืมตัวไปใช้งานโดยไม่มีการสมัครใจหรือไม่ รอให้มีเรื่องเกิดก่อน แต่เชื่อว่าไม่น่ามีอะไร
โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร ระบุถึงกรณีดังกล่าว่า เรื่องนี้มีการสอบสวนตามระเบียบ ส่วนจะให้มีการยกเลิกพลทหารมารับใช้ที่บ้านพัก ในระเบียบกองทัพไม่มีอยู่แล้ว เป็นแค่การยืมตัวไปและขึ้นอยู่กับความสมัครใจทั้ง2 ฝ่าย
ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ประกาศ ของ กองทัพบก ปี 2544 เป็นประกาศเกี่ยวกับการบริหารจัดการทหาร ที่สมัครใจมาเป็นทหารตั้งแต่อายุ 18-20 ปี เป็นการเฉพาะ แต่ปัจจุบัน การเรียกทหารกองเกิน จะต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป จึงจะต้องเข้ามารับการตรวจเลือก แต่ประกาศของปี 2544 กองทัพเปิดโอกาสให้ ประชาชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินที่มี 18-20 ปี ที่ประกาศไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหมดช่วงไปแล้ว
ทั้งนี้ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ ย้ำว่าเป็นประกาศที่นำประชาชนที่สมัครใจเข้ามา โดยจะบรรจุงานให้เหมาะสมกับวัย และวัยวุฒิของเขา เพราะบางตำแหน่งไม่สามารถบรรจุได้ ทั้งพลปืน หรือการใช้อาวุธ ยุทโธปกรณ์บางอย่างไม่สามารถใช้ปฏิบัติได้ แต่ขณะที่ทหารกองเกิน 20 ปี ขึ้นไป เมื่อสมัครเข้ามาแล้ว จะถูกบรรจุในตำแหน่งอัตราที่กองทัพระบุไว้ ทั้งพลบริหาร พลปืนเล็ก พลลาดตระเวน หรือตามตำแหน่งในภารกิจนั้น
'ประยุทธ์' เมินตอบปมพลทหารรับใช้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มีคนเคยตอบไปแล้ว ตนจึงไม่ขอตอบซ้ำอีก ตอบซ้ำไปซ้ำมากันอยู่เนี่ย ถามตรงโน้นตรงนี้ที ถามใครไปแล้วคนนั้นก็ตอบไปแล้วก็จบ เขามีความผู้ผิดชอบของเขาอยู่
นายกฯ ปัดโยกย้ายชั้นนายพลรองรับเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุถึงการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี 2561 จะเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ โดยย้ำว่า ตัวเองไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างเป็นไปตาม พ.ร.บ.การโยกย้ายประจำปี และไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นอย่าคิดว่าทหารจะเป็นอะไร เพราะทหารก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และมีการเติบโตตามเส้นทางชีวิตราชการ จะต้องเป็นคนดี เพราะทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อรักษาอำนาจให้กับใคร เหมือนกับตนเองที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบก ในการตอบสนองทุกรัฐบาล และจะไปคัดค้านรัฐบาลได้อย่างไร ไม่ว่าจะใครจะเป็นอะไรก็ตาม
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาจะเพิ่มเติม เนื่องจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ ต้องเป็นทั้ง ส.ว.และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติบุคคลให้สูงขึ้นหรือไม่นั้น พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเพียงคนในไม่กี่คนในหลายๆคนที่อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งมีนายกฯเป็นประธาน โดยมีหน้าที่ในการติดตามและประเมินผล และยังมีกลไกอีกมากมาย แต่ไม่ใช่ไปก้าวล่วงอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน
"ขอให้เชื่อมั่นว่าการมียุทธศาสตร์ชาติจะมีผลดี กรอบแม่บท และการพัฒนาอย่างไร ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และต่อด้วยแผนงบประมาณประจำปีของแต่ละกระทรวงที่ต้องตอบสนองกรอบของยุทธศาสตร์ชาติ ในช่วง 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ถนน น้ำ รถไฟ และรถไฟฟ้า ดังนั้นจำเป็นต้องเขียนกรอบเอาไว้ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ อีกทั้งมีพ.ร.บ.การเงินการคลังปี 2560 ออกมาแล้ว ว่าจะมีสัดส่วนในการใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์" นายกรัฐมนตรี ระบุ
ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็น ผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่เหมือนเดิม ไม่มีการกำหนดอะไรเพิ่ม คือจบจากโรงเรียน จปร. ทั้งนี้ขึ้นอ���ู่กับความอาวุโส และเป็นคนที่ผ่านงานมาเยอะมากกว่า 30-40 ปี เหมือนกับตนเองก็ผ่านงานมาเยอะแยะ
ส่วนกรณีที่ จะมีการให้ ผบ. เหล่าทัพ แสดงทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ระบุ ทำอย่างไรได้เมื่อระเบียบออกมา ตนไม่มีความเห็น ซึ่งเรื่องประชาชนสบายอยู่แล้ว ทุกเรื่อง
อ่านเพิ่มเติม