ไม่พบผลการค้นหา
'ศุภชัย' เผย 'พรรคภูมิใจไทย' พร้อมหนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง ย้ำเพิ่มอำนาจประชาชน-แก้ปัญหาหนี้ กยศ. ขณะ 'พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์' เผยพร้อมผลักดันเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ sharing economy เพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน

นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับท้องถิ่นไทยในอนาคต” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ตนมั่นใจว่าการที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอแนวคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะโลกมันไปไกลแล้ว เราต้องตามให้ทันโลก และเป็นที่ทราบกันว่ารัฐมีกฏหมายมีอำนาจมากมายเหลือเกิน ดังนั้น หากมีการลดอำนาจหรือคลายอำนาจก็จะช่วยให้ประชาชนมีช่องทางเพิ่มรายได้แล้ว โดยตนเตรียมที่จะนำเสนอเกี่ยวกับ แกร็บแท็กซี่ ซึ่งทั่วโลกมีมานานแล้ว แต่ทำไมในประเทศไทยการให้บริการแกร็บจึงเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ตนเตรียมที่จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย 

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พรรคมีแนวทางในการนำเสนอรูปแบบโปรฟิต-แชร์ริ่ง ซึ่งมีการนำเสนอในรูปแบบที่แบ่งปันผลประโยชน์ ให้กับสินค้าเกษตรทุกชนิด จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมทั้งเกษตรกรผู้ประกอบการ โดยระบบดังกล่าว ใช้ได้ดีในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรมีการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรม 

นอกจากนี้ นโยบายสำคัญที่พรรคให้ความสำคัญอีกเรื่องคือ การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทางพรรคมีแนวทางในแก้หนี้ กยศ.อย่างจริงจัง โดยปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เป็นหนี้ กยศ. 1 ล้านคน แต่คนค้ำที่มีปัญหากับ กยศ.มีประมาณ 3 ล้านคน แนวทางของพรรคคือตัดคนค้ำออกไป และเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว เพราะพรรคพบว่ามีคนรุ่นใหม่กำลังจะเข้าสู่การเป็นหนี้ กยศ.อีก 2 ล้านคน ดังนั้น หนี้ กยศ.จะเป็นปัญหาสังคมในอนาคต พรรคตั้งใจว่าหลังการเลือกตั้งหากเป็นรัฐบาลรัฐจะเดินหน้าแก้หนี้ กยศ.อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทางธุรกิจหรือสร้างครอบครัวในอนาคต 

นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ตนมองว่าประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือการเลือกตั้งเมื่อครั้งปี 2544 ที่สร้างปรากฏการณ์นโยบายกินได้ จนถึงวันนี้ทุกพรรคการเมืองจึงนำเสนอนโยบายที่ทำได้จริงและทำได้ไว ส่วนเรื่องท้องถิ่นมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ว่ามีบทบาทและหน้าที่อย่างไร การที่รัฐธรรมนูญมีการบัญญัติให้ท้องถิ่นทำเรื่องของการพัฒนาพื้นที่มากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดีหากมีการสนับสนุนด้านงบประมาณจากส่วนกลาง และในการพูดคุยกับผู้บริหารพรรคภูมิใจไทยก็เห็นตรงกันว่า การสร้างประเทศให้แข็งแรงก็ต้องเริ่มจากท้องถิ่น เรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศแข็งแรงคือเมื่อเราพัฒนาให้ท้องถิ่นดีก็จะจะส่งผลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นตามไปด้วย

'ภูมิใจไทย' หนุน เศรษฐกิจแบ่งปันเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน 

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะทีมยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เปิดเผยถึงแนวคิด เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ sharing economy ซึ่งพรรคกำลังผลักดันให้เป็นนโยบาย ว่า Application อาทิ Grab และ Airbnb เป็นตัวเร่งให้เกิด 'ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน' ขึ้น และรูปแบบเศรษฐกิจแบบนี้ กำลังได้รับความนิยมจากสังคม 

ปัจจุบัน คาดกันว่ารายได้จากระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันจะมีสูงกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะขยายตัวเป็น 3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2025 การเกิดขึ้นของ Sharing economy ไม่เพียงเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจแบบดั้งเดิม อาทิ อาชีพแท็กซี่ต้องแข่งกับ Grab หรือโรงแรมที่ต้องมาแข่งกับ Airbnb แต่ยังรวมไปถึงแนวทางของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายและระเบียบข้อบังคับ ซึ่งต้องเปลี่ยนให้ทันความต้องการของประชาชน ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ไปทำลายอาชีพดั้งเดิม เหล่านี้คือความท้าทายที่รัฐต้องประสบ 


“ต้องยอมรับว่าในขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจแบบแบ่งปันสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกับคนทั่วโลกอย่างมหาศาล แต่ของประเทศไทย กลับติดปัญหาจุกจิก อาทิ กฎกรอบ ห้ามนู่น ห้ามนี่ จนกลายมาเป็นอุปสรรคไม่ให้คนไทยสามารถหาประโยชน์จากเศรษฐกิจใหม่ได้เต็มที่"


ดังนั้น จึงถึงเวลาที่เราต้องมาคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ว่าจะให้คนไทย ได้ประโยชน์สูงสุดจากธุรกิจแบ่งปันตรงนี้ได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถนำทรัพย์สินที่มี มาใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ กระจายเม็ดเงินให้ได้มากที่สุด สำหรับพรรคภูมิใจไทย เรามองไปที่การแก้กฎหมาย และขณะนี้ กำลังรวบรวมดูว่ากฎหมายไหนคืออุปสรรคของคนไทย ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันโลก ขณะเดียวกัน ต้องให้คนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดิมสามารถอยู่รอดได้ด้วย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง