หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หยิบยกวาทกรรม 'ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม' ผ่านบทกลอนระบุถึงการนำประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ 'ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม' โดยฝากให้ครูสอนเยาวชนไทยให้เข้าใจในประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ชี้แจงความหมายคำว่า 'ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม' คือการสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ดีงาม มุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนด เพราะนิสัยคนไทยชอบอะไรก็ชอบ เกลียดอะไรก็เกลียด
'ไทยนิยม' อยู่ที่ 'ใครนิยาม'
'วอยซ์ออนไลน์' จึงลองค้นหาคำว่า 'ไทยนิยม' ผ่านเวบไซต์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แต่กลับ 'ไม่พบคำศัพท์ที่ต้องการค้นหา' และเมื่อหากถอดแต่ละคำ นำไปค้นหาความหมาย จะเห็นคำว่า 'ประชาธิปไตย' คือระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่
ส่วนคำว่า 'ไทย' คือ ชื่อประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า
ขณะที่คำว่า 'นิยม' มีความหมาย 2 แบบคือ การกำหนด หรือ ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, และมักใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม
'ประชาธิปไตย' ต้องสอดคล้อง 'วิถีไทย'
นายสนิท อักษรแก้ว ราชบัณฑิต และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นว่า 'ไทยนิยม' หมายถึงวิถีชีวิตในการดำรงอยู่ของคนไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ส่วนคำว่า 'ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม' คือการสร้างระบอบปกครองให้ตรงกับวิถีไทย ซึ่งการพัฒนาศักยภาพตามนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องคำนึงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย และการอนุรักษ์ประเพณีซึ่งทั่วโลกให้ความยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี
'ประชาชน' คือหัวใจของ 'ประชาธิปไตย'
นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า การอ้างว่า 'ประชาธิปไตยแบบไทยไทย' แล้วพื้นฐานของประชาธิปไตยยังดำรงอยู่หรือไม่ ซึ่งหัวใจหลักคืออำนาจเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้ง และกำหนดชะตากรรม หากรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยหรือใช้สิทธิยากที่สุด อย่างนี้จะบอกโดยประชาชนได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้ไม่มีพจนานุกรมเล่มใดอธิบายคำว่า 'ไทยนิยม' ไว้ แต่การหยิบยกวาทกรรม 'ประชาธิปไตย' ของพลเอกประยุทธ์ ในห้วงยามที่กำลังเข้าสู่เส้นทางการเมือง อาจถูกตีความได้ว่า เป็นการสร้างพื้นฐานทางการเมืองตามที่ผู้มีอำนาจนิยมหรือไม่?
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม