ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากกาขยายตัวของ "ความเป็นเมือง" แบบไร้ระเบียบจะสร้างสิ่งสกปรกทางสายตาแล้ว ท้องถนนตามเมืองใหญ่ที่คลาคลั่งด้วย ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ ยังเพิ่มปริมาณปัญหามลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียงให้มากขึ้นด้วย ดังนั้น ในอนาคตประชากรเกือบครึ่งโลกต้องทนทุกข์กับเสียงแตร เสียงไซเรน เสียงกรีดร้อง และเสียงขุดเจาะแบบไม่เคยเป็นมาก่อน
อินโฟกราฟิกชิ้นหนึ่งบนเว็บไซต์เอนเซีย (Ensia) นำเสนอมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในปี 2100 ประชากรโลก 84 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 10.8 พันล้านคน จะเป็น ‘คนเมือง’ นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางมลพิษทางเสียงที่กำลังบานสะพรั่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วธรรมชาติของมนุษย์มักเลือกฟังเฉพาะเสียงอบอุ่น ละมุนละไม มากกว่าสัมผัสกับเสียงหยาบกระด้าง หรือดังเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อสมดุลร่างกาย และสภาพจิตใจ
แน่นอนว่า ต้นสายปลายเหตุของเสียงมลพิษในสิ่งแวดล้อมหนีไม่พ้นเรื่อง ‘การคมนาคมขนส่ง’ ตัวการสำคัญทำให้ป่วยไข้กันได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น รถบรรทุกน้ำมันดีเซลที่อยู่ห่างออกไป 50 ฟุต สามารถสร้างเสียงรบกวนได้ 90 เดซิเบล และการที่มนุษย์รับเสียงเกินกว่า 85 เดซิเบล ก็เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว หรืออาจจะหูดับถาวร
ยังไม่หมดแค่นั้น มลพิษทางเสียงเป็นอะไรมากกว่าเสียงจากการจราจร อุบัติเหตุทางยวดยาน หรือการบีบแตรของรถยนต์คันหลัง เพราะการพัฒนาเมืองที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องมาพร้อมกับเสียง ‘การก่อสร้าง’ (Construction Noise) ที่อาศัยเครื่องจักรกลหนัก ซึ่งส่งเสียงอันน่าเกรงขามเป็นเวลานานหลายปี และสามารถสะท้อนเสียงไปยังบริเวณพื้นที่สงบรอบๆ ทำให้คนบ้านใกล้โครงการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ หรือสนามบิน ต้องทุกข์ทรมานอยู่กับเสียงรบกวนทุกๆ ช่วงเวลาที่เกิดแรงสั่นสะเทือน และมันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการปวดศีรษะ
คุณอาจไม่เชื่อว่า มลพิษทางเสียงสามารถสร้างความหายนะต่อสุขภาพ และเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของมนุษย์ แต่ทั้งหมดไม่ใช่การกล่าวเกินจริง เพราะมีผลวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า หากสัมผัสกับมลพิษทางเสียงดังเกินไป หรือต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดอาการนอนไม่หลับ และหูดับฉับพลัน ซึ่งสภาวะดังกล่าวอาจส่งผลเสียรุงแรงต่อสุขภาพด้านอื่นๆ เนื่องจากเป็นตัวกระตุ้นระดับความเครียด และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง จนสุดท้ายปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าจะตามมา
เนื่องจากปัจจุบันเมืองต่างๆ บนโลกกำลังมีขนาดใหญ่มากขึ้น ทว่ากลับไร้ความรับผิดชอบต่อการสร้างวิกฤตเสียงรบกวน ดังนั้น นอกจากแรงสั่นสะเทือนของโครงการก่อสร้างแล้ว ปัจจัยที่เร่งเร้าให้ปัญหามลพิษทางเสียงเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ คือการวางผังเมืองที่มองไม่เห็นทางออกในการช่วยลดระดับเสียงรบกวนให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และหากพิจารณาเรื่องราวให้ละเอียด ดูเหมือนสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้สังคมอนาคตเต็มไปด้วยคนหูหนวกคงต้องเริ่มต้นที่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมลพิษทางเสียงในหมู่ประชาชนทั่วไป พร้อมๆ กับหาหนทางกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการผสมผสานนวัตกรรมการควบคุมเสียง และมาตรการด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน
ต้องยอมรับว่า ปัญหาเสียงรบกวนเป็นเรื่องท้าทายของมนุษย์โลกมานานแล้ว เพียงแต่ระดับความรุนแรงของปัญหามันเพิ่มมากขึ้น เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจ และกระบวนผลิตของเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาให้เห็นอยู่บ้างคือ เมื่อขอบคอนกรีตสำเร็จรูปตามแนวขอบถนน หรือทางรถไฟ สามารถช่วยกีดกั้นชุมชนจากส่งเสียงรบกวนขณะยานพาหนะแล่นผ่านได้ วิศวกรแถบยุโรปเลยพัฒนาวัสดุก่อสร้าง และออกแบบสิ่งกีดขวางใหม่ๆ เพื่อห่อหุ้มเสียงบนเส้นทางหลวง หรือกระจายเสียงออกไปในโทนต่ำ
ความจริงรถยนต์ไฟฟ้าส่งเสียงเงียบกว่าเครื่องยนต์ที่ขับเคลือนด้วยน้ำมันเบนซินและดีเซลแน่นอน แต่มันก็ยังเกิดเสียงรบกวนจากแรงเสียดทานของยางรถยนต์ พื้นถนน และกระแสลม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าบางครั้งก็เงียบเกินไป จนรัฐบาลต้องกำหนดให้รถยนต์ไฟฟ้ามีเสียงรบกวนบ้างเล็กน้อย เพื่อไม่ให้คนขับรถสบายเกินไป เพราะเดี๋ยวจะงีบหลับเสียก่อน
นอกจากนั้น การสนองตอบของชุมชนต่อเสียงรบกวนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น วัฒนธรรม การมีส่วนร่วม อายุ ความสนใจ นโยบาย และประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น โดยปัจจุบันวิธีลดปัญหาเสียงรบกวนแบบธรรมดาสามัญทั่วไปมี 3 วิธี ได้แก่ ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง ปรับทางเดินเสียงจากแหล่งกำเนิด และป้องกันหูของตัวเอง โดยใช้จุกอุดหู (Ear Plug) เครื่องสวม เพื่อช่วยลดเสียงดังที่เข้ามาในหู หรือเดินออกมาพักหูบ้าง
ในท้ายที่สุด ตัวเปลี่ยนเกมอาจเป็นเพียงแค่การเสาะหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบาย และวิศวกรสามารถนำไปปฏิบัติจริง ขณะเดียวกันนักวิจัยบางคนก็กำลังพยายามยกระดับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างทีมนักวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองวิจัยดนตรีและเสียง (Music and Audio Research Lab – MARL) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่เปิดตัวโครงการเสียงแห่งนิวยอร์กซิตี้ (Sounds of New York City – SONYC) โดยพยายามกระจายเซ็นเซอร์ขนาดกะทัดรัดออกไปตลอดนิวยอร์กซิตี้ เพื่อสร้างแผนที่เสียงของเมือง ก่อนทำความเข้าใจทิศทางการกระจายเสียงภายในเมือง และแสดงพื้นที่ที่มลพิษทางเสียงเข้มข้นมากสุด
เนื่องจากนิวยอร์กเป็นเมืองไม่เคยหลับไหล จึงเป็นสถานที่ทดลองชั้นดีของโครงการดังกล่าว และหากประสบความสำเร็จข้อมูลของนิวยอร์กสามารถนำไปศึกษาด้านสุขภาพ และความปลอดภัย เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของมลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นกับชีวิต และสัตว์ป่าในบริเวณใกล้เคียง
เมื่อลองจิตนาการถึงอนาคตของโลกอันเงียบสงบ แต่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเสียงอึกทึกก็อาจจะพบว่า ความเงียบแท้จริงนั้นกลับกลายเป็นสิ่งหายาก
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมใหม่ๆ อาจจะเข้ามาช่วยให้มนุษย์สามารถผ่านเสียงอึกทึกครึกโครมบนโลกได้ง่ายขึ้น
สุดท้าย อีกหนึ่งเรื่องจริงที่น่าเศร้าคือ นก และสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด กำลังถูกโจมตีจากมลพิษทางเสียงด้วยเช่นกัน เพราะพวกมันต่างพึ่งพาการเปล่งคลื่นเสียงในการหาเหยื่อ หรือผสมพันธุ์ แต่มลพิษทางเสียงสามารถทำลายพฤติกรรมเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ค้างคาว ที่อาศัยกระบวนการบอกระยะทาง และทิศทางด้วยเสียง (Echolocation) เพื่อย้ายถิ่นฐาน และออกหาอาหาร ทว่าระดับเสียงรบกวนสูงจะทำให้ความสามารถของพวกมันด้อยลง หรือกรณีเสียงดังตามแนวชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของหอยนางรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพน้ำทะเลให้คงอยู่ในระดับยั่งยืน
-------------------------------
อ้างอิงข้อมูลจาก - Futurism