ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารกลางเวเนซุเอลาออกธนบัตรใหม่ เริ่มใช้ตั้งแต่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังประสบวิกฤตเงินเฟ้อขั้นรุนแรง สินค้าประจำวันมีราคาถึงหลักสิบล้าน รัฐบาลจึงสั่งปรับลดค่าเงิน แต่ประชาชนจำนวนมากยังอพยพหนีภัยเศรษฐกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง

เวเนซุเอลาประสบปัญหาเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้การซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวันต้องใช้เงินจำนวนมาก เช่น ไก่ 1 ตัว น้ำหนักประมาณ 2.4 กิโลกรัม มีราคาถึง 14,600,000 โบลิวาร์ ชีส 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 7,500,000 โบลิวาร์ ส่วนสบู่หรือผ้าอนามัย 1 กล่อง ราคาประมาณ 3,500,000 โบลิวาร์ ทำให้การจับจ่ายสินค้าของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องใช้เงินกองใหญ่ในการซื้อสินค้าทั่วไป รัฐบาลเวเนซุเอลาจึงเสนอให้ธนาคารกลางออกธนบัตรใหม่โดยปรับลดค่าเงินลง

นิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ประกาศให้วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น 'วันหยุดราชการ' เพื่อให้ประชาชน ธนาคาร และบริษัทห้างร้านทั่วประเทศปรับตัวพร้อมรับธนบัตรชุดใหม่ที่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 21 ส.ค. ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องระดมกำลังพนักงานทำงานล่วงเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเบิกถอนเงินสดของประชาชนที่ต้องการใช้ธนบัตรใหม่

ทั้งนี้ เงินจำนวน 1 ล้านโบลิวาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีมูลค่าเท่ากับเงิน 10 โบลิวาร์หากใช้ธนบัตรใหม่ในวันนี้ (22 ส.ค.) ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะอยู่ที่ 68 โบลิวาร์ต่อ 1 ยูโร หรือ 60 โบลิวาร์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลวิจารณ์ว่าการปรับค่าเงินกะทันหันทำให้ผู้ค้าและประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะไม่ทราบข้อมูลธนบัตรใหม่อย่างละเอียด จึงเกิดความสับสน และการปรับลดค่าเงินโดยการออกธนบัตรใหม่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ได้ผลในระยะยาว

ส่วนเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในประเทศเวเนซุเอลาเพิ่มสูงขึ้นถึง 82,000 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาอาจสูงขึ้นถึง 1,000,000 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นปี 2561

Reuters-Bolivar inflation-Venezuela-Tomatoes-เงินเฟ้อเวเนซุเอลา

(เมื่อวันที่ 20 ส.ค. มะเขือเทศ 1 กิโลกรัมในเวเนซุเอลา มีราคา 5 ล้านโบลิวาร์ ส่วนกระดาษชำระ 1 ม้วน ราคา 2.6 ล้านโบลิวาร์ แต่เมื่อธนาคารกลางประกาศใช้ธนบัตรใหม่ ทำให้ราคาสินค้าลดลงร้อยละ 95 - Quartz)

Reuters-Bolivar inflation-Venezuela-เงินเฟ้อเวเนซุเอลา

นอกเหนือจากการปรับลดค่าเงินเพื่อแก้วิกฤตเงินเฟ้อ รัฐบาลเวเนซุเอลายังเข้ายึดกิจการโรงงานผลิตกระดาษชำระ 'สเมอร์ฟิต คัปปา' ในเมืองบาเลนเซีย หลังจากที่สหภาพแรงงานของบริษัทร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานของรัฐบาลว่าบริษัทให้พนักงานหยุดงานโดยยังได้รับค่าจ้างเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่พนักงานได้รับผลกระทบเพราะค่าจ้างที่ได้รับตามปกตินั้นน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการซื้อหาอาหารในภาวะขาดแคลนสินค้า และที่ผ่านมาพนักงานพึ่งพาสวัสดิการอาหารกลางวันของโรงงาน เมื่อโรงงานสั่งให้หยุดงาน ทำให้พนักงานไม่มีอาหารรับประทาน

อย่างไรก็ตาม ราฟาเอล แรงเกล ผู้นำสหภาพแรงงานของบริษัทสเมอร์ฟิต คัปปา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่าการเข้ายึดกิจการของรัฐบาลเวเนซุเอลาเป็นแค่การใช้อำนาจตรวจสอบในระยะเวลา 3 เดือนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยึดกิจการถาวร

วิกฤตเศรษฐกิจเวเนซุเอลา มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ ผู้นำการปฏิวัติที่สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยม ปกครองเวเนซุเอลาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2542 จนถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อเดือน มี.ค. 2556 รัฐบาลเวเนซุเอลาได้ประกาศใช้นโยบายประชานิยมและรัฐสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการตรึงราคาสินค้าและบริการ และพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ทำให้เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ในละตินอเมริกา

อย่างไรก็ตาม หลังจากชาเบซเสียชีวิตเมื่อปี 2556 เวเนซุเอลาได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนิโกลัส มาดูโร ผู้ถูกวางตัวเป็นทายาทของชาเบซ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีโดยที่ไม่ได้มีประสบการณ์บริหารประเทศมากนัก ทำให้เขาถูกต่อต้านจากฝ่ายค้านและนักธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจและการตัดสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ของอดีตรัฐบาลชาเบซ เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันเมื่อปี 2557 ทำให้เวเนซุเอลาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลเวเนซุเอลาพยายามแก้ปัญหาด้วยการอุดหนุนราคาสินค้า เพื่อให้ประชาชนยังสามารถซื้อหาสินค้าประจำวันได้ รวมถึงสั่งพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่ออัดฉีดเศรษฐกิจ แต่กลับทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และกิจการเอกชนได้รับผลกระทบจนต้องทยอยปิดตัว ในบางกรณีรัฐบาลเข้ายึดกิจการและแปรรูปกิจการเอกชนเป็นของรัฐเพื่อควบคุมการผลิต แต่ยิ่งทำให้บริษัทต่างๆ ปิดตัวลงเพิ่มขึ้น จนขาดแคลนผู้ผลิตสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันต่างๆ รวมถึงยารักษาโรค และประชาชนต้องข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาซื้อสินค้าที่จำเป็น

นอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เวเนซุเอลายังเผชิญกับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจนถึงขึ้นจลาจลหลายครั้ง รวมถึงมีความพยายามก่อรัฐประหารโดยกลุ่มทหารแตกแถวซึ่งไม่พอใจการทำงานและการแก้ปัญหาสังคมของรัฐบาลเวเนซุเอลา แต่ประธานาธิบดีมาดูโรก็ถูกโจมตีว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐบาล โดยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ประณามรัฐบาลเวเนซุเอลาว่าเพิกเฉยต่อการลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งวิสามัญฆาตกรรมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลรวมกว่า 500 รายช่วงปีที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: