สำนักข่าวอัลจาซีรา สื่อของกาตาร์ รายงานว่าประชาชนในอัฟกานิสถานจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัย หลังกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มยกระดับความรุนแรงในการก่อเหตุ และพุ่งเป้าโจมตีไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้พลเรือนได้รับผลกระทบ บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาวอัฟกานิสถานจึงเริ่มเขียนจดหมายสั่งลาหรือระบุข้อมูลส่วนตัวที่จำเป็นสำหรับพกติดตัวขณะออกจากบ้านไปทำกิจธุระต่างๆ
เหตุการณ์รุนแรงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นฝีมือของกลุ่มตอลิบาน ซึ่งใช้ 'รถพยาบาล' ก่อเหตุคาร์บอมบ์ฆ่าตัวตายในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คน และบาดเจ็บอีกราว 235 คน โดยนักวิเคราะห์มองว่า กลุ่มตอลิบานอาจพยายามยกระดับการโจมตีเพื่อแข่งกับกลุ่มติดอาวุธไอเอสที่ขยายฐานจากอิรักและซีเรียเข้าไปมีบทบาทในอัฟกานิสถานมากขึ้น
มูญีบุลเลาะห์ ดาสเทียร์ ผู้อาศัยอยู่ในกรุงคาบูล วัย 28 ปี เปิดเผยกับอัลจาซีราว่า หลายครอบครัวตามหาญาติที่หายไปในช่วงตอลิบานก่อเหตุเมื่อวันเสาร์ แต่ยังไม่พบตัว และก่อนหน้านี้เพื่อนของเขาเคยได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด แต่กว่าจะตามตัวจนพบก็ต้องโพสต์ขอความช่วยเหลือในสื่อสังคมออนไลน์อยู่หลายวัน เขาจึงรู้สึกว่าการพกจดหมายติดตัวไว้เป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรในแต่ละวัน
ขณะที่ฟาซิเลาะห์ ชาฮิดี นักศึกษาวัย 20 ปีที่กำลังเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ระบุว่าเธอพกจดหมายสั่งเสีย 2 ฉบับติดตัว แต่เก็บไว้คนละที่กัน โดยฉบับหนึ่งเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ อีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ในกระเป๋าถือ เผื่อจดหมายฉบับหนึ่งถูกทำลาย ก็ยังมีอีกฉบับสำรองไว้ และทุกครั้งที่ออกจากห้องพัก เธอจะคิดอยู่เสมอว่า "วันนี้จะได้กลับมาที่ห้องอย่างปลอดภัยหรือไม่"
16 ปีแห่งความรุนแรง-ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งไม่หยุด
กองทัพสหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2544 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หลังกลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์จี้เครื่องบินและก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือเหตุการณ์ 9/11 แต่รัฐบาลอัฟกานิสถานในขณะนั้นยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวโอซามา บินลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ให้แก่สหรัฐฯ แต่จะส่งตัวให้ประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดแทน บุชจึงออกคำสั่งเริ่มต้นปฏิบัติการ Operation Enduring Freedom ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร
ร็อดเจอร์ แชนนาแฮน นักวิชาการของสถาบันโลวีในออสเตรเลีย ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันตก เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า ปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถานที่เริ่มขึ้นในสมัยบุช ทำให้กลุ่มตอลิบานถูกจำกัดพื้นที่ จนกระทั่งนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีลำดับถัดมา มีคำสั่งทยอยถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2554 ทำให้กลุ่มตอลิบานกลับมารวมตัวกันได้ และก่อเหตุรุนแรงขึ้นใหม่ ประกอบกับมีการขยายตัวของกลุ่มติดอาวุธไอเอสจากอิรักและซีเรียเข้าไปในอัฟกานิสถานมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ไม่สงบยิ่งทวีความรุนแรงกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2560 ถือเป็นวาระครบรอบ 16 ปีที่สหรัฐฯ นำกำลังทหารบุกอัฟกานิสถาน และซีเอ็นเอ็นรายงานว่าการต่อสู้ที่ยืดเยื้อทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 114,442 ราย โดยกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดคือนักรบของกองกำลังติดอาวุธ มีจำนวนทั้งหมด 42,100 ราย ส่วนพลเรือนที่เสียชีวิตมีจำนวน 31,419 ราย ในขณะที่ทหารอเมริกันเสียชีวิต 2,371 ราย
งบป้องกันประเทศก็พุ่งไม่หยุดเช่นกัน
สหรัฐฯ ใช้จ่ายงบประมาณไปกับการทำสงครามในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2544-2558 เป็นเงินกว่า 783,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 25 ล้านล้านบาท และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เพิ่งจะประกาศแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่เพื่อเพิ่มปฏิบัติการทางทหารที่อัฟกานิสถานเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว โดยจะเพิ่มทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน 15,000 นาย แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการปฏิบัติการที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ทรัมป์ทั้งยังมีคำสั่งเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 7.16 แสนล้านดอลลาร์เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างขัดแย้งกับคำยืนยันของรัฐบาล ที่ระบุว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานและสมรภูมิต่อต้านก่อการร้ายอื่นๆ กำลัง 'ดีขึ้น' อย่างต่อเนื่อง
เว็บไซต์เอ็นพีอาร์ของสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงคำแถลงของกองทัพสหรัฐฯ ที่ระบุว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานชุดปัจจุบันได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจนสามารถยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่างๆ ได้ร้อยละ 56 จากจำนวน 407 เขตปกครองทั่วประเทศ ส่วนร้อยละ 30 ยังเป็นสมรภูมิต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ ขณะที่ร้อยละ 14 เป็นพื้นที่ซึ่งถูกกลุ่มติดอาวุธยึดครอง บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในอัฟกานิสถานยังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งซึ่งไม่มีฝ่ายใดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้
เซ็ธ โจนส์ ผู้อำนวยการโครงการ Transnational Threats ซึ่งรวบรวมข้อมูลด้านภัยคุกคามข้ามชาติ ประจำศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (SIGAR) ระบุด้วยว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ กลุ่มนักวิชาการและสถาบันต่างๆ ที่ศึกษาวิจัยเรื่องความขัดแย้งก็ยิ่งขอข้อมูลจากกองทัพสหรัฐฯ ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน
อ่านเพิ่มเติม: