บลิงเคนตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญจากสหรัฐฯ ต่อเวทีการประชุมระดับนานาชาติ ตั้งแต่การประชุม COP 27 การประชุมสหรัฐฯ-อาเซียน การประชุมเอเชียตะวันออก การประชุม G20 และเวทีล่าสุดอย่างการประชุม APEC ในไทย เพื่อตอบโจทย์การดำรงชีวิตของชาวสหรัฐฯ และประชากรโลก
นอกจากนี้ บลิงเคนได้ตอกย้ำถึงการพบกันระหว่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน บนเวทีการประชุม G20 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้งสองผู้นำให้คำมั่นสัญญาณที่จะยังคงติดต่อสื่อสารกัน เพื่อการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การร่วมมือกันในประเด็นวิกฤตสภาพอากาศ และความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงคนเดียว
“ประธานาธิบดีไบเดนชี้แจงชัดเจนว่า เราจะยังคงแข่งขันกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแข็งขัน เรามุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้การแข่งขันกลายเป็นความขัดแย้ง เพื่อจัดการความสัมพันธ์ของเราอย่างมีความรับผิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ ทั้งนี้ บลิงเคนตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีไบเดนมีแผนการที่จะเดินทางเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังตอกย้ำบนเวที APEC ของไทย ถึงข้อตกลงการส่งธัญพืชออกทางทะเลดำของรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารโลก นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัสเซียขยายเวลาข้อตกลงให้ยูเครนขนส่งธัญพืชออกทางทะเลดำต่อไป หลังจากรัสเซียมีเจตนาในการขัดขวางการขนส่งธัญพืช ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชากรทั่วโลก
บลิงเคนระบุถึงการยิงขีปนาวุธของรัสเซียถล่มใส่ยูเครนอีกว่า “ประธานาธิบดีปูตินยังคงเพิกเฉย ต่อข้อเรียกร้องจากทั่วโลกในการลดระดับความรุนแรง โดยเลือกที่จะเพิ่มระดับสถานการณ์ ด้วยการยิงถล่มขีปนาวุธลงบนโครงสร้างพื้นฐานทั่วยูเครน ซึ่งเป็นฐานผลิตพลังงานความร้อน น้ำ และแสงสว่าง แก่พลเรือนหลายล้านคน”
“กลยุทธ์ใหม่ของรัสเซียเช่นเดียวกับกลยุทธ์เก่าจะล้มเหลว วิญญาณของยูเครนไม่แตกหัก ความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนยูเครนก็เช่นกัน” บลิงเคนตอกย้ำถึงการให้การสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ บนเวที APEC ในกรุงเทพฯ ที่ทางการไทยพยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นความขัดแย้งสงครามยูเครน นอกจากนี้ บลิงเคนยังระบุอีกว่า สหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนโปแลนด์ในการสืบสวนสอบสวนเหตุขีปนาวุธตกในประเทศ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเป็นอุบัติเหตุจากระบบป้องกันทางอากาศของยูเครน ที่ใช้ยิงตอบโต้ขีปนาวุธรัสเซีย
บลิงเคนชี้ว่า “ผู้คนในทุกเขตเศรษฐกิจของ APEC กำลังดิ้นรนกับความท้าทายทางเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามของรัสเซีย การจัดการกับผลที่ตามมาเหล่านั้น ร่วมกันเป็นจุดสนใจหลักของการประชุมของเราที่กรุงเทพฯ” ก่อนกล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยได้แสดงความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในการขับเคลื่อน APEC ในช่วงเวลาที่ท้าทาย แต่ยังรวมถึงการมองข้ามขอบฟ้าของวิกฤตการณ์ในปัจจุบันต่อจุดอ่อนเชิงระบบที่เราต้องแก้ไขร่วมกัน.
บลิงเคนกล่าวถึง BCG ที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันในการประชุมครั้งนี้ว่า “โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อมชีวภาพที่ริเริ่มโดยประเทศไทย ทำให้ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบหลักของทุกการอภิปราย และทุกสิ่งที่เราทำที่ APEC และนั่นคือสิ่งที่เป็นอยู่”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวถึงการเป็นประธาน APEC ของสหรัฐฯ ในปีหน้าว่า “สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นผู้นำเหล่านี้ และในด้านอื่นๆ ของประเทศไทย เมื่อเรารับช่วงต่อในการเป็นประธาน APEC ในปีหน้า เราจะมุ่งเน้นที่การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยการสร้างภูมิภาคที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น และครอบคลุมมากขึ้น”
“ดังที่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวไว้ นี่เป็นทศวรรษที่เด็ดขาด สิ่งที่เราทำในตอนนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะสามารถสร้างอนาคตที่เสรี เปิดกว้าง ปลอดภัย และเจริญรุ่งเรืองได้จริงหรือไม่” บลิงเคนย้ำ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของศตวรรษที่ 21 มากกว่าที่อื่นๆ นั่นคือสิ่งที่โลกได้เห็นจากอเมริกาในสัปดาห์ที่แล้ว และนั่นคืองานที่เราตั้งใจจะดำเนินการผ่านความเป็นผู้นำของ APEC ในปีหน้า”
ในช่วงการตอบคำถามผู้สื่อข่าว บลิงเคนได้ตอบคำถามถึงประเด็นการปล่อยตัวนักโทษของกองทัพเมียนมาออกจากเรือนจำว่า “เราซาบซึ้งกับพันธมิตรและหุ้นส่วนมากมาย ที่กดดันระบอบการปกครองของพม่าให้ปล่อยตัวพวกเขา รวมทั้งเพื่อนของเราที่นี่ในประเทศไทยด้วย”
“ผมใคร่ขอขอบคุณพวกเขาจริงๆ สำหรับความพยายามของพวกเขาในการให้นักโทษจากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ที่ได้รับการปล่อยตัวตลอดมา การรักษาความปลอดภัยและความปลอดภัยของชาวอเมริกันในต่างประเทศเป็นความสำคัญสูงสุดของผม และเราจะไม่หยุดทำงานเพื่อรับประกันการปล่อยตัวชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังโดยมิชอบ” บลิงเคนกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า “เราเห็นการคุมขังอย่างต่อเนื่องของชาวพม่าจำนวนมาก รวมทั้งผู้นำของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูกถอดออกจากอำนาจ และเราไม่เห็นหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า ระบอบการปกครอง (กองทัพเมียนมา) ให้ความสนใจที่จะพยายามค้นหาเส้นทางที่แตกต่างออกไป และดำเนินการต่างๆ ให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งรวมถึงข้อตกลง 5 ประการของอาเซียนในระดับที่น้อยที่สุด ระบอบการปกครองยังเพิกเฉยมาจนถึงวันนี้”