กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์ ม.ไซทะมะ ฉายภาพความเชื่อมโยงการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ก่อนวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปี 2020 ผ่าน 'วอยซ์ออนไลน์' ดังนี้
ตั้งแต่เข้าสู่ระบบเลือกตั้งที่มีรูปแบบประชาธิปไตย แต่ในเนื้อแท้กลับเป็นการเกาะกินสังคมของระบอบที่คณะบุคคลดังกล่าวอ้างสียงข้างมากเพื่อปกครอง แต่ในเนื้อแท้กลับซ่อนกลไว้ให้หลายประการ โดยเอาคะแนน ส.ว. และพรรคเล็กพรรคน้อย มารวมเป็นเสียงส่วนใหญ่เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประหลาดหน้าเดิมๆ ที่ไม่มีความสามารถ เป็นไม้ประดับการสืบทอดอำนาจ จากการที่มีอำนาจล้นฟ้าจนคณะผู้สืบทอดอำนาจหลงผิดว่า ข้าฯ และพวกของข้าฯ คือผู้ไม่เคยแพ้และจะสามารถอยู่ไปได้อีกนาน และหลอกตัวเองว่าสามารถแก้ฝันร้ายที่ว่า อย่าให้รัฐประหารเป็นการสูญเปล่า เสียของ
ที่น่าเศร้าคือคณะรัฐประหารชุดนี้ทำสำเร็จเสียด้วย ด้านการสืบทอดอำนาจที่มีปลายกระบอกปืนการันตี จนทำให้อำนาจที่คานอำนาจกัน ระหว่างบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ สูญเสียสมดุลที่ควรคานอำนาจกันและกัน จนเหลืออำนาจหลักเดียวที่ครอบงำอำนาจอธิปไตยอื่นคืออำนาจสืบทอดจากระบอบทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่ที่คณะสืบทอดไม่เข้าใจด้วยลืมตัวหลงมัวเมาในอำนาจคือ การบริหารระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย ยากเกินกว่าที่หัวหน้าทีมและทีมเศรษฐกิจจะเข้าใจได้ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ คนแล้วคนเล่าหาคนเก่งไม่ได้เลยหรือ
หลักฐานที่ชัดและฟ้องว่ารัฐบาลชุดนี้ และชุดก่อนหน้านี้ ที่มีทีมเศรษฐกิจหน้าเดิมๆ ที่เปลี่ยนเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็น พล.อ.ประยุทธ์นั้น แม้เสริมด้วย รมว.พาณิชย์ แต่ท่านก็ไม่น่าจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการทำตลาดเลย ก่อนหน้าก็เคยดำรงตำแหน่งนี้อย่างน่าผิดหวังมาก่อน ส่วน รมว.คลังฯ ไม่ต้องพูดถึงเพราะท่านเชื่อในแนวทางของนักการตลาดของนายสมคิด ไม่ใช่การคลัง นโยบายแต่ละอย่างล้วนตำน้ำพริกละลายทะเล ซ้ำร้ายนายสมคิดออกมาชี้นิ้วแบบร้องงิ้วว่าเศรษฐกิจไทยจะดี คนไทยจะไม่จน
เมื่อทหารกลุ่มนี้ทำรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2014 ดูเหมือนประชาชนให้ความเชื่อถือในช่วงเวลาสั้นๆ แต่หลังจากประชาชนรู้ว่าถูกหลอกให้ลงคะแนนแล้วความเชื่อมั่นต่อคณะทหาร ในความสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจเริ่มโรยรา ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2019 ทุกคนตื่นขึ้นจากหลับไหลและตาสว่าง พบว่านายสมคิดทำไม่ได้อย่างที่คุย ทำให้นักธุรกิจ ประชาชนผิดหวังหนัก จนเศรษฐกิจดิ่งเหวหนักขึ้น หลังจากที่หัวหน้ารัฐบาลเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดูเหมือนคำกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้จัดการเศรษฐกิจมหภาคได้ยอดแย่น่าจะเป็นจริง จากการชี้วัดของดัชนีการสำรวจทางธุรกิจ (Business Sentiment Index) ซึ่งเป็นปรอทวัดไข้ธุรกิจจากความรู้สึกของนักธุรกิจ พบว่าถดถอยอย่างลงสู่เหวลึก
รูปที่ 1 ดัชนีการสำรวจภาวะธุระกิจ (Business Sentiment Index)
ที่มา ธนาคารประเทศไทย
เราพิจารณาการขยาย-หดตัว โดยพิจารณาร่วมกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Indicators) ซึ่งประกอบด้วยตัวแปรสำคัญได้แก่ ดัชนีการส่งออก ปริมาณเงิน พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ทุนจดทะเบียนใหม่ ราคาน้ำมัน ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ และดัชนีการสำรวจสภาวะธุระกิจ ดัชนีนี้เป็นผลการจัดทำของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือสูงยิ่ง ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ แสดงถึงการชี้นำการขยายตัว-การหดตัวของเศรษฐกิจปัจจุบัน (แสดงโดยดัชนีคล้อยตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน (Coincidence Indicator) และ การขยายตัว-หดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Real Gross Domestic Product) อยู่อย่างน้อยหนึ่ง-สอง ไตรมาส ล่วงหน้า (ดูรูปที่ 2)
รูปที่ 2 การขยายตัว-หดตัว ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจ (Leading Economic Indicators) ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน (Coincident Economic Indicators)
ที่มา ธนาคารประเทศไทย
เราคงอยากรู้ว่าเศรษฐกิจมหภาคของไทยจะหดตัวดิ่งเหวหรือไม่ (Crash Landing) โดยมีอัตราการขยายตัวติดลบ หรือเศรษฐกิจหดตัวไม่ใช่เพียงแค่ชะลอตัว โดยมีอัตราการขยายตัวลดลงต่อเนื่องสองไตรมาส (Recession)
เราพบว่า 1) แม้ไม่มีเหตุการณ์เรื่องไวรัส การขยายตัวของตัวแปรที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจทุกตัว การขยายตัว-หดตัว ในช่วง ม.ค.-ธ.ค. 2020 ตามรูปแบบการปรับตัวของข้อมูลในอดีต ปี ม.ค 2000-ธ.ค. 2019. แสดงให้เห็นการถดถอยเป็นส่วนใหญ่ การส่งออกขยายตัวต่ำมากเพียงร้อยละ 2 ต่อปี ทุนจดทะเบียนขยายตัวต่ำมาก ในขณะที่อัตราการขยายตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณเงินเพิ่มในอัตราลดลงตามคาด การขยายตัวของพื้นที่อนุญาตก่อสร้างเป็นไปตามที่
เข้าใจว่าเนื่องจากเกิดการชะงักงันในตลาดการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญคือการถดถอยของสภาวะของธุรกิจในความคิดเห็นของนักธุรกิจ ข้อสมมุติดังกล่าวร่วมกับแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์ พบว่า อัตราการขยายตัวของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ที่เป็นบวกประมาณร้อยละสอง ในไตรมาสที่หนึ่ง จะหดตัว ติดลบ ในไตรมาสที่ สอง-สาม-สี่ ของปี 2020 นี้
2) หากนำผลกระทบจากการหดตัวของตลาดโลก ที่เกิดจากการที่ประเทศจีนมีผลกระทบจากไวรัส จะส่งผลต่อการหดตัวของความต้องการสินค้าบริการของโลกให้หดตัว จากการที่จีนต้องการนำเข้าลดลง และการที่อุปทานของสินค้าขั้นกลางจากจีนลดลงเนื่องจากไวรัส จนไม่สามารถทำการส่งมอบผลผลิตผ่านระบบการขนส่งภายในประเทศกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Global Supply Chain) ภายในของจีนและของประเทศอุตสาหกรรม และต่อประเทศไทยอย่างหนักหน่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลต่อการหดตัวของจีดีพีที่แท้จริงรุนแรงกว่ากรณีที่ 1 และมีความเป็นไปได้สูงในการวิเคราะห์ผลการประมาณการ
รูปที่ 3 การขยายตัว-หดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รายไตรมาส (Growth of Quarterly GDP, Year-on-Year % change)
หมายเหตุ: ผลการคำนวณโดยแบบจำลองร่วม ระหว่างตัวแบบชี้นำสภาวะเศรษฐกิจ และการกำหนดผบอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Real GDP Determination with Leading Economic Indicators Model)
(ที่มา ธนาคารประเทศไทย)
ผลของโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวอย่างรุนแรงข้างต้น น่าจะนำสู่ความยุ่งยากทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะหากเศรษฐกิจหดตัวย่อมหมายถึงการหยุดกิจการของธุรกิจ การเลิกจ้าง การติดหนี้และผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ธนาคารและสถาบันการเงิน ทั้งโดยหน่วยธุรกิจและครัวเรือนที่มีหนี้การบริโภคและการผ่อนบ้าน เหตุการณ์น่าจะวุ่นวายไม่น้อยกว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินปี 1997 (พ.ศ. 2540) ที่ตามมาด้วยการล่มสลายของหน่วยธุรกิจและสถาบันการเงิน
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรัฐมนตรีเศรษฐกิจในช่วงหลังรัฐประหาร นายสมคิด ที่บอกคนไทยมาตลอดว่าเศรษฐกิจจะดี จะหายจน คงต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่งอย่างกล้าหาญ และสำหรับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้ ที่เคยบอกว่าจะสร้างความสุขและจะอยู่ไม่นาน ก็คงต้องยอมรับอย่างกล้าหาญว่าเรื่องเศรษฐกิจมันเกินกำลังสติปัญญาท่าน
"และเวลาที่ประชาชนมอบความไว้วางใจให้กับท่านมันได้หมดลงแล้ว ท่านอยู่นานไปหรือไม่ประชาชนแปลกใจทำไมอยู่นาน น่าจะจบโรงเรียนประชาธิปไตยและลาเวทีนานแล้วหรือสองปีแรกไม่ใช่ห้า-หกปี ทางออกที่สง่างามคือการมอบคืนกุญแจแห่งเสรีภาพ แก่ประชาชนเพื่อประชาชนจะได้เปิดประตูสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ท่านพร้อมหรือยัง ประชาชนพร้อมนานแล้ว และขอท่านบ้าง ท่านให้ได้ไหม"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง