ราอูล กาสโตร ประธานาธิบดีคิวบา วัย 86 ปี เตรียมตัวก้าวลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และสภาคิวบาลงมติรับรอง มิเกล ดิอาซ-กาเนล รองประธานาธิบดี วัย 57 ปี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทนกาสโตรในเวลา 09.00 น.วันนี้ (19 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นคิวบา ตรงกับ 20.00 น.เวลาไทย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ โฮเซ่ ฮาซาน นีเบส บรรณาธิการสำนักข่าวทางเลือกแห่งหนึ่งของคิวบา ซึ่งพยายามจะเสนอข่าวถ่วงดุลกับสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ระบุว่าประชาชนจำนวนมากอยากให้การก้าวลงจากตำแหน่งของกาสโตรเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังไม่คืบหน้าด้านการปฏิบัติ
นีเบสระบุว่ารัฐบาลไม่มีการวางแนวทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการปกครอง และราอูล กาสโตร จะยังดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งจะทำให้เขายังคงมีอำนาจทางการเมืองอยู่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ ตระกูลกาสโตรปกครองคิวบามานานกว่า 60 ปี นับตั้งแต่ฟิเดล กาสโตร พี่ชายของราอูล เป็นผู้นำการปฏิวัตและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2502 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งเริ่มล้มป่วยจึงให้ราอูลดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ประธานาธิบดัีในปี 2549 ก่อนที่ราอูลจะเป็นประธานาธิบดีต่อในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
ความคาดหวังบนบ่า 'ว่าที่ผู้นำใหม่'
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า มิเกล ดิอาซ-กาเนล ว่าที่ประธานาธิบดีคิวบา ถูกเรียกว่าเป็น 'มือขวา' ของราอูล กาสโตร นับตั้งแต่รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2556 และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวหน้าทางการเมืองอย่างรวดเร็ว
เขาเรียนจบด้านวิศวกรรมไฟ้า และเป็นแกนนำของกลุ่มยุวชนพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองซานตากลาราที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในเมือง เนื่องจากเขาผ่อนคลายกฎที่เข้มงวดต่างๆ ทำให้ชาวเมืองรู้สึกมีเสรีภาพมากกว่าผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ และเขายังสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมสิทธิของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ รวมถึงเปิดให้มีการจัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกห้ามในเมืองอื่นๆ ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้าและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง
(มิเกล ดิอาซ-กาเนล (ขวา) ถูกวางตัวเป็นทายาทสืบทอดอำนาจบริิหารประเทศจากราอูล กาสโตร (ซ้าย))
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานว่า ดิอาซ-กาเนล มีภารกิจที่จะต้องทำต่อให้สำเร็จ เพราะราอูล กาสโตร เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเสนอให้กำกับดูแลสกุลเงินและค่าเงินภายในประเทศ เนื่องจากในยุคของกาสโตรผู้น้องได้มีการผ่อนผันทางนโยบายเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางเคลื่อนย้ายไปที่ต่างๆ ได้อย่างเสรีมากขึ้น และการเปิดโอกาสให้มีการลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้
นักวิเคราะห์มองว่ามาตรการของราอูลจำเป็นต้องผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคที่กลายเป็นกระแสแรงมากขึ้น ทั้งยังมีผู้อพยพลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ กันมากขึ้น
ส่วนเว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทม์รายงานว่า ผู้อพยพชาวคิวบาที่หนีมาตั้งรกรากอยู่ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ต่างเฝ้ารอเวลาที่จะได้เห็นตระกูลกาสโตรพ้นจากอำนาจ เนื่องจากพวกเขาหลบหนีออกจากคิวบาเพราะไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ รวมถึงการสั่งควบคุมและปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างเข้มง��ด แต่ผู้อพยพชาวคิวบาหลายรายมองว่าการก้าวลงจากตำแหน่งของกาสโตรไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมมากนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: