ไม่พบผลการค้นหา
ภาคเอกชนค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 15 บาทต่อวัน หวั่งกระทบธุรกิจเอสเอ็มอี แนะใช้สูตรคำนวณอ้างอิงตามเงินเฟ้อ ปรับขึ้นไม่เกิน 4.05 บาท เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีทบทวนอัตราค่าแรง ภายในสัปดาห์หน้า


ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เตรียมนำเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาหารือเป็นวาระเร่งด่วนในวันที่ 10 มกราคมนี้ หลังจากมีกระแสข่าวว่า จะปรับขึ้นค่าแรงอีกวันละ 15 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ 2561 ให้ผู้ใช้แรงงาน

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวเลข แต่เชื่อว่าจะอยู่ในช่วง 2-15 บาทต่อวัน ซึ่งต้องรอมติของคณะกรรมการไตรภาคี (ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ที่ตั้งของสถานประกอบการ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพของแรงงาน และความสามารถในการจ่ายค่าแรงของผู้ประกอบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกวันละ 15 บาท

พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย แต่จะเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ส.อ.ท.ต้องการกดค่าจ้างแรงงานต่างด้าว แต่ขอให้พิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ขณะที่ภาพรวมตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเวลานี้ยังอยู่ในภาวะขาดแรงงานมีทักษะ

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เสนอให้รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำ โดยอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่า ในปี 2561 จะอยู่ในระดับ 1.4% ดังนั้น ค่าแรงควรจะปรับขึ้นอยู่ที่ 4.50 บาท แต่หากปรับขึ้น 15 บาท ก็เท่ากับว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 4.83% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก

ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น หากเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้แรงงานน้อย ต่างจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานมาก เช่น เซรามิก, สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม  

ดังนั้น จึงเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงพร้อมกันทุกจังหวัด แต่ควรแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่ และแบ่งตามคลัสเตอร์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากนัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม กลุ่มเกษตรกรรม และกลุ่มก่อสร้าง โดยกลุ่มเกษตรกรรม และก่อสร้างส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จะจ่ายค่าจ้างแรงงานสูงกว่า 325 บาทแล้ว (เดิม 310 + ใหม่ 15 = 325 บาท) จึงไม่กังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ

ขณะที่ ผู้ใช้แรงงาน มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ คือ 360 บาทต่อวัน แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่ปรับขึ้นเลย เพราะทิ้งช่วงมา 3-4 ปีแล้ว เนื่องจากทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น จำเป็นต้องทำโอที วันละ 2 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย และเงินเก็บ

อย่างไรก็ดี ภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ชุดใหญ่ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะหารือเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยค่าแรงที่ปรับเพิ่มจะมีผลทันทีในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ อัตราที่บอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเคยพิจารณา คือปรับขึ้นระหว่าง 2-15 บาท ซึ่งอาจขึ้นมากกว่า 15 บาท โดยในครั้งนี้บอร์ดค่าจ้างจะทำอัตราใหม่ เพราะไม่ได้ขึ้นค่าแรง 300 บาท มาตั้งแต่ปี 2557 โดยจะปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

ลูกจ้างขอค่าแรงขั้นต่ำ712บาท