ไม่พบผลการค้นหา
จีนจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อตรวจสอบวิดีโอเกม หลังมีการสั่งให้หยุดขายไปตั้งแต่เดือนมีนาคม

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ธันวาคม) จีนมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบดูแลวิดีโอเกมชุดใหม่ที่มีชื่อว่า "คณะกรรมการจริยธรรมเกมออนไลน์” โดยเหล่าผู้บริหารและผู้ให้คำปรึกษาในอุตสาหกรรมวิดีโอเกมมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีแม้จะไม่คาดคิดมาก่อน ที่วิดีโอเกมใหม่ๆ จะเริ่มทยอยได้รับการอนุญาตให้มีการซื้อขายได้หลังจากที่ทางการสั่งห้ามซื้อขายเกมใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเนื้อหามีความรุนแรงเกินไปและเป็นเหตุให้เด็กรุ่นใหม่มีพฤติกรรมติดเกม

การแทรกแซงและระงับการขายเกมใหม่ของรัฐบาลจีนทำให้ บริษัทต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน มีการรายงานว่า บริษัทเกมต้องแบกรับรายได้ที่สูญเสียไปจากการสั่งห้ามไม่ให้มีการขายเกมใหม่ถึงประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน หรือประมาณ 6,568 ล้านบาท ซึ่งความเสียหายครั้งนี้ บริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่าง เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง (Tencent Holding) และ เน็ตอีส เกม (NetEase Games) ที่ผลิตเกมอย่าง “Honor of Kings” และ “World of Warcraft” ก็โดนผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยที่หุ้นของ เทนเซ็นต์ ตกลงถึงร้อยละ 24 ในขณะที่หุ้นของเน็ตอีส ย่ำแย่หนักกว่า โดยตกลงมาที่ร้อยละ 30

ขณะนี้คณะกรรมการด้านจริยธรรมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมดูแลการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการตรวจสอบเกมไปแล้ว 20 เกม โดยมีการบังคับให้แก้ไขชื่อเกม 11 เกม และปฏิเสธการอนุญาต 9 เกม เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

อุตสาหกรรมเกมออนไลน์บนโทรศัพท์มือถือของจีนเติบโตขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ความนิยมนี้ส่งผลให้ รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จับตามองอย่างใกล้ชิด พร้อมเรียกร้องให้เหล่าผู้ผลิตเกม ผลิตเนื้อหาที่ไปในทางส่งเสริมพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ความพยายามในการเข้ามาแทรกแซงอุตสาหกรรมเกมครั้งนี้ อาจกำลังสะท้อนให้เห็นว่า ประธานธิบดีสี ต้องการสร้างความมั่นใจในพรรคคอมมิวนิสต์ของตนมากขึ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์อำนาจอ่อนที่แทรกซึมเข้าถึงประชาชนผ่านเกมออนไลน์

เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทยนั้น อดตั้งคำถามไม่ได้ว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ กำลังพยายามใช้อำนาจอ่อนกับประชาชนผ่านผลงานเพลงที่เราฟังจนคุ้นหูรึเปล่า

อ้างอิง; WSJ