ไม่พบผลการค้นหา
'ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' ชี้ 14 ตุลา คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ที่ปัจจุบันขยายสู่ระดับมวลชนทั่วประเทศ คาดว่า อนาคตอาจรุนแรงขึ้น หาก 2 ขั้วประนีประนอมกันไม่ได้

มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับองค์กรภาคี จัดงานรำลึก 45 ปี 14 ตุลา 2516 โดยมีการตักบาตรพระสงฆ์และทำพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพุทธ, คริสต์และอิสลาม ก่อนที่หน่วยงาน, องค์กรและบุคคลต่างๆ จะร่วมวางพวงหรีดและกล่าวรำลึกวีรชนดังเช่นทุกปี

ปีนี้คณะผู้จัดมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ทั้ง 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และยังรวมถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตลอดจนคุณูปการของคณะราษฎร ที่ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ปี 2475  

ช่วงท้ายของงาน มีการปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา "จาก 14 ถึง 6 ตุลา : ประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่"โดยศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เกี่ยวเนื่องกับหลายเหตุการณ์ และในทางประวัติศาสตร์ มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองสมัยใหม่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา โดยนักคิดต่างชาติ, คณะทหารหนุ่ม, ข้าราชการและเจ้านายชั้นสูง รวมถึงนักคิดนักเขียนต่างๆ แต่ล้วนประสบความล้มเหลวกระทั่งคณะราษฎร ก่อการสำเร็จในปี 2475 

ดังนั้นการต่อสู้ของแนวคิดสมัยใหม่ที่ว่าด้วย ระบบรัฐสภา, รัฐธรรมนูญ, การเลือกตั้งและประชาธิปไตย มีมาอย่างยาวนานถึง 7 แผ่นดิน นับแต่รัชกาลที่ 4 ถึง รัชการที่ 10 ถือเป็นประวัติศาสตร์พิศดาร โดยนับแต่ปี 2408 ที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ถูกแปลเป็นภาษาไทยและปรากฏขึ้นในสยามกระทั่งปัจจุบัน รวมเวลากว่า 153 ปี ที่แนวคิดสมัยใหม่แทรกซึมในความคิดชนชั้นปกครองไทยพร้อมๆ กับคำถาม มีความพร้อมและจะรับเอาระบอบใหม่หรือไม่

ขณะที่ความขัดแย้งในสังคมไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่เกี่ยวเนื่องในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ล้วนเป็นการต่อสู้ระหว่างตัวแทนความคิดระบอบเก่ากับระบอบใหม่ จึงเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะการปราบปรามประชาชนปี 2553 ที่หากเทียบกันแล้วเกิดความสูญเสียต่อประชาชนมากกว่า 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 และ พฤษภา 2535

อย่างไรก็ตาม 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่ความขัดแย้งเฉพาะระดับชนชั้นนำด้วยกันอย่างในอดีต แต่ครอบคลุมกลุ่มคนและพื้นที่กว้างขวางทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะในเมืองหลวง โดยมองว่า อนาคตสองขั้วความคิดยังจะต้องขัดแย้งและอาจรุนแรงขึ้นจนมีลักษณะคล้ายสภาพปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ แต่ไม่ถึงขั้นจลาจลหรือสงครามกลางเมือง 

อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้ถึงองค์ประกอบที่มีส่วนในการต่อสู้ระหว่างขั้วความคิดระบอบเก่ากับระบอบใหม่เเบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) สถาบันเบื้องสูงและเครือข่าย 2) ทหารหรือกองทัพ 3) กลุ่มทุนและนักธุรกิจ 4) ชนชั้นกลางและสื่อมวลชน และสุดท้ายคือ 5) มวลชนและพระสงฆ์ที่มีส่วนปลุกระดมมวลชน

ส่วนทางออกทุกคนต้องถามตัวเองในแต่ละฝ่ายว่า จะสามารถประสานประโยชน์ หรือ เกี้ยเซี๊ย กันได้หรือไม่