ไม่พบผลการค้นหา
“ใจผมอยากให้ไป ไม่อยากให้อยู่” พิสิษฐ์ จิรกาญจนากุล ผู้จัดการร้านสุดาไทยคาเฟแอนด์เรสตัวรองค์ ร้านอาหารไทยกลางกรุงลอนดอนบอก เขากำลังพูดถึงเรื่องที่อังกฤษจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป

“เราไม่ต้องการไปแชร์อะไรกับใครมาก เราต้องเสียภาษีให้อียู (สหภาพยุโรป) ปีละพันๆล้านปอนด์ เราต้องรับผู้อพยพมาเยอะมาก” ความรู้สึกของพิสิษฐ์นั้นจะว่าไปแล้วก็สะท้อนความคิดเห็นของคนอังกฤษจำนวนมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเขาอยู่อังกฤษมานาน ขณะที่พิสิษฐ์อยากให้อังกฤษออกจากอียูเพราะเขาเห็นว่าอังกฤษเสียเปรียบต้องจ่ายเงินสมทบให้อียูจำนวนมาก แต่เขาก็เป็นคนทำธุรกิจ สิ่งที่อยากเห็นเป็นคนละอย่างกับสิ่งที่ทำลงไปในช่วงที่ลงประชามติแยกตัวที่เรียกกันว่าเบร็กซิต “ใจผมอยากให้ไป แต่ผมไปโหวตให้อยู่ ตอนนั้นผมคิดว่ามันมีผลกระทบ และมันก็มีผลกระทบจริงๆ”

ผลการทำประชามติเมื่อปี 2016 ปรากฏว่าคนอังกฤษ 51.9% ต้องการให้ประเทศออกจากการเป็นสมาชิกของอียู ในขณะที่อีก 48.1% ยังอยากอยู่ต่อ หลังการลงประชามติ รัฐบาลอังกฤษเริ่มต่อรองเงื่อนไขในการแยกตัวและจัดวางความสัมพันธ์ใหม่กับอียู ตลอดจนต้องจัดวางเงื่อนไขภายในประเทศหลายอย่างให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดแยกตัวคือเดือนมี.ค.ปี 2019 ระยะเวลาที่กำลังรอนี้เองที่พิสิษฐ์บอกว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่เป็นคุณสำหรับคนทำธุรกิจเพราะมันเป็นความไม่แน่นอน ซึ่งทำให้ธุรกิจจำนวนมากได้แต่รอและทำให้เกิดสภาพนิ่งทางด้านการลงทุน

AP-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit-อังกฤษ-อียู-ถอนตัว-สหภาพยุโรป

แต่สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้น พิสิษฐ์บอกว่ารอไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อการลงทุนนั้นมาจากฐานคิดที่ว่า อนาคตของการทุนกลุ่มนั้นๆ ผูกพันอยู่กับอังกฤษอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเบร็กซิตก็ตาม

ร้านสุดาเป็นผลของการร่วมทุนของนักลงทุนสองกลุ่ม พวกเขาเพิ่งจะย้ายร้านออกจากย่านโคเว้นท์การ์เด้นท์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งมานานถึง 5 ปีไปอยู่ที่ถนนเบอร์เนอรส์ ในย่านทอทแน่ม คอร์ทโรด แม้อยู่ไม่ห่างจากที่เดิมมากนัก ทว่าจุดที่ตั้งหลบมุม แถมยังมีการก่อสร้างอยู่ใกล้เคียงจนทำให้มองเห็นร้านได้ยาก ร้านของกิจการร่วมทุนใหม่นี้มีสองชั้น สภาพภายในกว้างขวางและการตกแต่งบ่งบอกให้เห็นถึงการวางจัดวางระดับชั้นตัวเองชัดเจน แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดูดเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมาก เปิดตัวมา 5 เดือนแต่ดูเหมือนจะค่อนข้างเงียบ อย่างไรก็ตามพิสิษฐ์เชื่อว่าทำเลนี้เป็นจุดที่ดี เพราะร้านอยู่ไม่ห่างจากย่านช้อปปิ้งและย่านคนทำงาน ทั้งยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินของรถไฟฟ้าสายใหม่ Crossrail ที่กำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จ เขาบอกว่าทำเลนี้จะดีกว่าเดิมอย่างแน่นอนในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ทำเลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับร้านอาหาร พิสิษฐ์ยกตัวอย่างร้านอาหารในเครือผู้ลงทุนว่ามักจะอยู่ในย่านที่มีลูกค้าที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงทั้งสิ้นไม่่ว่าที่แฮมสเตท ทางตอนเหนือของลอนดอน วิมเบิลดัน ฟูลแลม และที่ไนท์บริดจ์ซึ่งร้านมีสาขาอยู่ไม่ไกลจากห้างดังคือแฮรอดส์ รวมทั้งในย่านโซโห ซึ่งก็เป็นย่านสถานที่บันเทิงและท่องเที่ยว บางแห่งแม้จะอยู่หลบมุมลึกเข้าไปบ้างใกล้แหล่งช้อปปิ้งใหญ่ของลอนดอนคือถนนรีเจนท์ แต่อาศัยที่ลูกค้ารู้จักทำให้ร้านอยู่ได้ ทำเลแบบนี้หาได้ไม่ง่าย

แต่ความท้าทายอย่างสำคัญในเวลานี้สำหรับการทำธุรกิจร้านอาหารในอังกฤษ ก็คือการหาคนทำงานซึ่งเป็นปัญหามาโดยตลอดเพราะทิศทางของรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้เปลี่ยนเรื่อยมา โดยเฉพาะในเรื่องการใช้แรงงานจากภายนอก อังกฤษภายใต้รัฐบาลแต่ละพรรคมีแนวทางต่างกันไป จากที่เคยเข้มงวดก็มีการผ่อนปรน พิสิษฐ์ชี้ว่ารัฐบาลอังกฤษภายใต้รัฐบาลพรรคเลเบอร์ ร้านอาหารเคยว่าจ้างคนทำงาน ขอใบอนุญาตทำงานให้ได้และหากอยู่ได้ถึง 5 ปีก็มีสิทธิขอสัญชาติ ในขณะที่อีกด้านก็มีการผ่อนปรนให้นักศึกษาทำงานได้ด้วย ทำให้ในบางแห่งแรงงานของนักศึกษาต่างชาติกลายเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ปัญหาของการจ้างนักศึกษาก็คือ พวกเขาทำงานได้ไม่มาก มิหนำซ้ำยังอยู่ไม่นาน

“ส่วนใหญ่จะมาของานช่วงทำวิทยานิพนธ์ 3-4 เดือน พอเขาทำวิทยานิพนธ์เสร็จ เขาก็กลับ เราก็ต้องสอนงานพนักงานคนใหม่ ช่วงเค้ากลับนี่มีปัญหาสองเดือนแรก เพราะเค้ากลับพร้อมกัน”

พิสิษฐ์เชื่อว่าการผ่อนปรนในเรื่องการใช้แรงงานจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ส่งผลทำให้คนไทยสามารถย้ายไปอยู่ในอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันเขาเชื่อว่ามีจำนวนเป็นหมื่นคน แต่นโยบายเหล่านี้เปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ ปัจจุบันรัฐบาลไม่อนุญาตให้ทำเช่นนี้แล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง พิสิษฐ์เห็นว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษขาดแคลนแรงงานเป็นเพราะคนอังกฤษจำนวนหนึ่งเองเลือกงาน การมีสวัสดิการจากรัฐทำให้พวกเขามีทางเลือก ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษพยายามตัดเงินสวัสดิการคนว่างงานแล้วเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อจะจูงใจ มาตรการเรื่องแรงงานที่ตั้งข้อจำกัดเรื่องการจ้างงานจากภายนอกก็เห็นได้ว่าเพื่อจะผลักดันนายจ้างเช่นกัน “เค้าพยายามให้ใช้คนท้องถิ่น เพราะเค้าจะตัดการสนับสนุนด้านสวัสดิการภายในปี 2020 และค่าแรงจะถึง 9.20 ปอนด์ต่อชั่วโมง รัฐบาลต้องการให้คนอังกฤษไม่รับเงินจากรัฐบาล สมมติได้ 70 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ไม่คุ้ม ไปทำงานดีกว่าได้มากกว่า”

ขณะที่ค่าแรงเพิ่ม กระบวนการจ้างชาวต่างชาติเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะมีค่าโสหุ้ยที่สูงมาก รัฐบาลพยายามช่วยเหลือนายจ้างด้วยการลดภาษีให้ ความไม่แน่นอนในเรื่องเหล่านี้และการขาดแคลนแรงงานส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารไทยมาพักใหญ่ตั้งแต่ก่อนเรื่องเบร็กซิต เพราะแรงงานที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะส่วนอย่างในเรื่องการทำอาหารไทยมีไม่พอ เมื่อนำเข้าไม่ได้แรงงานบางส่วนจึงมีค่าตัวสูงลิ่ว “ตอนนี้เราเลือกใครไม่ได้เลย พ่อครัว แม่ครัว อย่างกับทองคำ เล่นตัวมาก อย่างกับพระเอก นางเอกดีกว่า เรื่องจริงนะ ไม่ชอบใจร้านนี้ไม่ทำ ออก ง้อ คนโทรไปตาม”

เพราะเหตุนี้เขาบอกว่ามันทำให้การลงทุนในธุรกิจบางอย่างเป็นไปได้ยาก เช่นการทำร้านอาหารไทยในผับหรือร้านเหล้า ซึ่งในช่วงหนึ่งดูจะเป็นกระแสที่ได้รับความนิยม ปัจจุบันทิศทางนี้เปลี่ยนไป ส่วนสำคัญเพราะขาดคนทำงานนั่นเอง สถานการณ์ด้านแรงงานของธุรกิจโดยทั่วไปดูเหมือนว่าจะยิ่งย่ำแย่ลงหลังจากการลงประชามติเรื่องเบร็กซิต ในช่วงปีแรกหลังการลงประชามตินั้นผู้คนเกิดความสับสนและทำให้แรงงานบางส่วนเช่นในยุโรปเดินทางกลับบ้านเพราะไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้หรือไม่ แรงงานที่เดินท��งออกไปแล้วดูจะยากเย็นอย่างยิ่งที่จะกลับเข้าไป ทำให้แรงงานน้อยลงไปอีก มันทำให้พิสิษฐ์อยากเห็นรัฐบาลผ่อนปรนในเรื่องของการให้นักเรียนนักศึกษาทำงานได้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดคนทำงาน แต่มันคงเป็นไปได้ยาก เขายอมรับ

อาหารไทย

พิสิษฐ์บอกด้วยว่าสิ่งหนึ่งที่เพิ่มต้นทุนสำหรับคนทำธุรกิจร้านอาหารในขณะนี้คือ สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้นเนื่องจากค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง เขาชี้ว่าตั้งแต่มีการลงประชามติแยกตัว ค่าเงินของอังกฤษตกลงรวมแล้วร่วม 20% “เราต้องซื้อของแพงขึ้นประมาณ 10-20% แต่เราขึ้นราคาไม่ได้ บางครั้งต้องมีโปรโมชั่นนำเสนอในราคาที่ถูกกว่าเพื่อที่จะดึงลูกค้าเข้ามา”

ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มรวมทั้งค่าแรง พิสิษฐ์ยอมรับว่าที่ผ่านมาร้านอาหารใหญ่ๆบางร้านพบว่าจำนวนลูกค้าลด และธุรกิจร้านอาหารต้องรัดเข็มขัดเพื่อให้อยู่ได้ อีกด้านก็มีข้อเท็จจริงว่าร้านอาหารไทยหลายร้านปิดตัวเองลงพร้อมกับบอกขายร้านซึ่งก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยเท่าที่เขารู้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยากที่คนนอกอุตสาหกรรมจะมองเห็น เนื่องจากเจ้าของร้านอาหารไทยมักจะไม่ใช้บริการนายหน้าในยามที่จะขายร้าน พวกเขาใช้วิธีบอกกันแบบปากต่อปาก แต่ว่าการปิดตัวเองของร้านอาหารไทยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผลพวงของเศรษฐกิจเสมอไป พิสิษฐ์ชี้ว่าหลายคนทำมานานก็เบื่อและต้องการขายก็มี แต่ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ ในขณะที่ร้านเก่าบอกขาย กลับมีคนกลุ่มใหม่พยายามเข้าไปลงทุนในอังกฤษมากขึ้นเพราะหลังการลงประชามติเบร็กซิต อังกฤษดูจะ “ถูกลง” จากการที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง บวกกับอาการแตกตื่นในปีแรกที่ผู้คนยังตั้งตัวไม่ได้ นักลงทุนต่างประเทศรวมทั้งจากไทยพากันไปซื้อกิจการในอังกฤษ “มันเข้าทำนองคนในอยากออก คนนอกอยากเข้านะครับ” เขาว่า เขาบอกว่านักลงทุนจีนกับไทยน่าจะเป็นชาติที่ไปขอวีซ่านักลงทุนจากอังกฤษค่อนข้างมาก

หนึ่งในธุรกิจที่ชาวต่างชาติมองหาเป็นอันดับต้นๆคือการทำร้านอาหาร และวิธีที่ง่ายที่สุดในการลงทุนทำร้านอาหารในอังกฤษ ก็คือการไปซื้อใบอนุญาตประกอบการต่อจากคนที่ประกอบกิจการร้านอาหารอยู่แล้ว พิสิษฐ์ชี้ว่ามันเป็นเส้นทางลัด เนื่องจากการจะทำร้านอาหารขึ้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเล่าจากประสบการณ์ตรง

“อย่างร้านสุดา เราขอใบอนุญาตใหม่ทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องแก๊ส ยากมากที่สุดคือการขอแก๊ส และถึงคุณจะมีใบอนุญาตแล้ว กว่าเค้าจะมาติดตั้งให้.. มันทำให้คุณมีต้นทุนสูงขึ้นและเสียเวลาในการขอใบอนุญาต” และถึงแม้จะหาทางลัดด้วยการไปหาซื้อใบอนุญาตประกอบการจากคนที่ไม่ต้องการทำธุรกิจนั้นต่อไปแล้ว ก็ยังใช้เวลากว่าจะเริ่มต้นได้ไม่ต่ำกว่า 3 เดิือน มิหนำซ้ำขั้นตอนในการทำธุรกิจยังมีเรื่องที่จะต้องติดต่อกับเอกชนด้วยกัน เช่นในเรื่องการเช่าสถานที่

“ที่อังกฤษถ้าจะเช่าตึก เจ้าของตึกเขาจะตรวจสอบประวัติว่าเรามีปัญญาเช่าเค้านานหรือเปล่า มีปัญญาจ่ายค่าเช่าเค้าหรือเปล่า ไม่ใช่อยู่ดีๆมีตังค์แล้วเช่าได้ เค้าเช็คไปถึงขั้นว่า เงินที่เอาเข้ามาเป็นเงินที่ฟอกมาหรือเปล่า ไม่เหมือนบ้านเราไปเซ้งตึกแถว เอาป้ายติด จ่ายภาษีป้าย แล้วก็ขายก๋วยเตี๋ยวได้เลย ที่นี่ไม่ได้”

ธุรกิจร้านอาหารไทยในอังกฤษในเวลานี้จึงอยู่ในมือที่เป็นเครือธุรกิจค่อนข้างมาก พิสิษฐ์นับให้ฟังไม่ต่ำกว่า 6 -7 เครือ “นอกจากร้านอาหารไทยในเครือภัทราและสุดา ยังมีร้านอาหารไทยในอังกฤษที่เป็นร้านเชน (สาขา) อีกหลายร้าน เช่น ร้านกิ๊กกลิ้งสควิด (Giggling Squid) ร้านเจ้าพระยา (Chaopraya) ร้านไทยคูนส์ (Thaicoons) ร้านอาหารในเครือโรซ่า ร้านแมงโกทรี (Mango Tree) หรือไทยสแควร์ (Thai Square)” แต่ละแห่งมีแผนที่จะขยายตัวเช่นเดียวกันกับสุดาแต่บางรายก็ยังรีรอ เมื่อถามว่าทำไมเครือธุรกิจเหล่านี้ไม่โยกตัวเองไปลงทุนในกลุ่มอียู เขาบอกว่ายาก ทั้งนี้เพราะปัญหาทั้งในเรื่องของภาษาและการขาดคนดูแล การจะลงทุนในแต่ละแห่งได้พวกเขาจะต้องมีคนร่วมทุน

AFP-ทาวเวอร์บริดจ์-ลอนดอน-Tower Bridge-London

นักลงทุนทำร้านอาหารไทยจำนวนมากจึงยังพอใจกับตลาดอังกฤษ โดยเฉพาะที่จับตลาดลูกค้าระดับสูง พวกเขาเชื่อว่าเศรษฐีย่อมมีเงินใช้จ่ายอยู่ดี ร้านอาหารที่จับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้จึงน่าจะยังอยู่ได้ “อย่างร้านญี่ปุ่นเซกซี่ฟิชที่อยู่ตรงเมย์แฟร์ เค้าลงทุนไป 10 กว่าล้านปอนด์ ต้องเข้าคิวกิน เพราะว่าร้านเค้าสวย คือถ้าคุณเข้าไปทานได้ดูร้านก็คุ้มแล้ว แต่ถ้าเป็นร้านระดับกลางๆ ก็จะมีผลกระทบเยอะ”

อังกฤษเหลือเวลาอีกไม่ถึงปีในการเจรจาต่อรองกับอียูเพื่อวางเงื่อนไขการจัดการความสัมพันธ์ด้านการค้าและการติดต่อ แต่จากวันแรกมาจนถึงวันนี้เขาเชื่อว่าอาการแตกตื่นลดลงอย่างมาก และบางอย่างเขาคิดว่ามีภาพบวกเช่นผลการดำเนินงานด้านการเงินของรัฐบาล ในส่วนของธุรกิจนั้นค่าเงินปอนด์ที่ตกทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม แต่ธุรกิจอย่างร้านอาหารยังไม่ดีนัก

ลึกลงไปแล้วในวันนี้พิสิษฐ์เห็นว่าหากอังกฤษยังอยู่กับอียูต่อไปจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องแยกตัว เขายังเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายและอังกฤษจะไปได้ ประเทศนี้จะยังคงมีบทบาทในประชาคมนานาชาติต่อไป เช่นในเรื่องความมั่นคง “เบร็กซิสต์เป็นเรื่องการค้าอย่างเดียว เค้ายังมี NATO อยู่” เขาชี้ให้ดูว่าที่ผ่านมาอังกฤษเองเป็นตัวของตัวเองมานานแล้ว “ต่อให้อังกฤษอยู่ต่อเค้ายังไม่ใช้เงินอียูเลยเห็นมั้ยครับ เค้าใช้เงินปอนด์ของเค้าเอง ผมว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่กระทบความเชื่อมั่น”


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Brexit ลอนดอน และคนไทย 2: ธุรกิจกัดฟันรอรับเบร็กซิต

Brexit ลอนดอน และคนไทย 1: ร้านดอกไม้เบอร์สติ้งบัด ไม่ใช่แค่ร้านขายดอกไม้