ล่าสุดฟีฟ่าได้สั่งปรับเงิน แจร์แดน ชากิรี่ และกรานิตซาก้า 2 ผู้เล่นทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ จากการที่ทั้ง 2 ได้แสดงท่าดีใจด้วยการนำฝ่ามือสองข้างมาไขว้ คล้ายเป็นรูปอินทรีย์ 2 หัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่บนธงชาติของประเทศแอลเบเนีย สร้างความไม่พอใจให้กับผู้เล่นและทีมงานของทางเซอร์เบียอย่างมาก ซึ่งได้ร้องขอให้ฟีฟ่าลงโทษทั้งคู่ในฐานแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ที่ยั่วยุหรือสร้างความขัดแย้ง ถ้าไม่นำเรื่องการเมืองในคาบสมุทรบอลข่านพิจารณา จะไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับการเมืองในเรื่องนี้
ย้อนกับไปในปี 2008 สาธารณรัฐโคโซโวประกาศเป็นรัฐเอกราชฝ่ายเดียว ออกจากการปกครองของประเทศเซอร์เบีย แม้จะมีมากกว่า 100 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวมถึงไทย ที่ให้การรับรองสถานะความเป็นประเทศ แต่ทางด้านเซอร์เบียยังถือว่าโคโซโวเป็นพื้นที่ใต้ปกครองของพวกเขาอยู่ โดยมีประเทศอย่างรัสเซีย สเปน ที่ไม่รับรองสถานะให้โคโซโวถึงแม้ว่าเซอร์เบียร์จะไม่มีส่วนในการปกครองในพื้นที่แถบนี้เลย โดยคณะทำงานสหประชาชาติในโคโซโว (United Nations Mission in Kosovo: UNMIK) และสถาบันการปกครองตนเองชั่วคราวของท้องถิ่น (Provisional Institutions of Self-Government) เป็นผู้บริหารประเทศ
ย้อนกลับไปอีก หลังจากประเทศยูโกสลาเวียแตกออกจากกัน เมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็น โคโซโวได้ถูกรวมเข้าไปอยู่กับเซอร์เบีย ไม่ได้แยกประเทศเหมือนกับอย่างโครเอเชีย สโลวิเนีย หรือบอสเนียฯ ด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่มีอยู่มานานตั้งแต่ยังเป็นยูโกสลาเวีย ทำให้โคโซโวที่มีเชื้อสายเป็นชาวแอลเบเนีย ต้องการแยกประเทศออกจากยูโกสลาเวียที่มีรัฐบาล เหมือนเช่นชาวเชื้อชาติอื่นๆ อย่างชาวโครแอตที่ออกมาตั้งประเทศโครเอเชียไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีแนวคิดว่าจะแยกไปรวมกับประเทศแอลเบเนีย แต่ทางรัฐบาลเซิร์บไม่ยินยอม จึงทำการโจมตีและขับไล่ชาวมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนียในโคโซโวอย่างโหดร้ายทารุณ ในช่วงยุคปี 90 ทำให้กองกำลังชาติพันธมิตรนำโดยนาโต นำกองทัพเข้ามายับยั้งสงคราม และอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนียกลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ โดยมีกองกำลังชาติพันธมิตรคุ้มครองจนถึงปัจจุบัน
แม้ยูโกสลาเวียได้กลายมาเป็นเซอร์เบียในปัจจุบัน แต่ปัญหาเรื่องโคโซโวก็ยังดำเนินมาโดยตลอด ปัจจุบันกว่าร้อยละ 90 ของประชากรโคโซโว 1.7 ล้านคน มีเชื้อสายแอลเบเนีย
แม้ว่าชากิรี่และชาก้าจะลงเล่นรับใช้ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ แต่พื้นหลังของทั้งสองนั้นเกิดที่โคโซโว และอพยพหนีสงครามในโคโซโวตามพ่อแม่อยู่มาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การแสดงท่าดีใจลักษณะนั้น จึงเป็นการใช้พื้นในสนามฟุตบอลเพื่อตอบโต้เซอร์เบีย
ก่อนที่เกมจะเริ่มขึ้น ทางชากิรี่ได้โพสต์ในบัญชีอินตราแกรมส่วนตัว เป็นภาพรองเท้าสตั๊ดข้างซ้ายมีธงชาติสวิส ส่วนด้านขวามีลายธงชาติโคโซโว
ที่ผ่านมา ชากิรี่ไม่เคยปิดบังความภูมิใจที่เขามีต่อความเป็นชาวแอลเบเนีย และบ้านเกิดของเขา แม้จะมีเสียงไม่พอใจจากหลายคนก็ตาม เขาได้ออกมาแสดงความต้องการจะเล่นในทีมชาติโคโซโวมาโดยตลอด ซึ่งต��้งแต่ประกาศเอกราชฝ่ายเดียวจากเซอร์เบีย โคโซโวก็ได้ตั้งทีมฟุตบอลประจำชาติของตัวเองที่เป็นอิสระจากเซอร์เบีย แต่เนื่องจากฟีฟ่ายังไม่ได้รับรองจึงไม่สามารถลงแข่งในรายการที่เป็นทางการได้
กว่าฟีฟ่าจะประกาศรับรองทีมชาติโคโซโวในปี 2016 ก็ต้องผ่านการต่อสู้เคลื่อนไหว จากนักฟุตบอลที่มีพื้นฐานมาจากโคโซโวที่ค้าแข้งในลีกใหญ่ของยุโรปหลายคน ได้ยื่นเรื่องกับฟีฟ่าขอให้โคโซโวสามารถแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมชาติสมาชิกฟีฟ่าได้ เกมแรกของทีมโคโซโวเกิดในปี 2014 ที่เสมอกับเฮติ 0-0 แม้จะถูกห้ามจากฟีฟ่าที่ถูกกดดันโดยเซอร์เบียมาอีกที ไม่ให้แสดงธงชาติ ร้องเพลง หรือสิ่งใดที่แสดงถึงชาติโคโซโว แต่เกมวันนั้นมีการเผาธงชาติเซอร์เบียภายในสนาม
เรื่องราวการเรียกร้องเอกราชผ่านเกมฟุตบอลมีให้เห็นมาหลายครั้ง อย่างในสเปนที่หลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่าย "ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ" ในสงครามกลางเมือง ทำให้แคว้นคาตาลันฐานใหญ่ของฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์สเปน
“More than a club” สโลแกนของสโมสรบาร์เซโลน่า ทีมดังจากแควันคาตาลัน ที่ประกาศตัวเป็นมากกส่าสโมสรฟุตบอล แต่บรรจุการต่อสู้ของท้องถิ่นอยู่ในนั้นผ่านเกมลูกหนัง การทำประชามติแยกคาลาตันออกจากสเปนถูกสนับสนุนโดยบาร์เซโลน่า ธงประจำแคว้นถูกโบกสะบัดในสนามแคมป์ นู หลายต่อหลายครั้ง สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลกลาง แต่ทางสโมสรก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนั้น
แม้ว่าทีมโคโซโวจะผ่านมติของสมาชิกฟีฟ่า 141 ต่อ 23 ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของฟีฟ่า แต่นักเตะที่เคยลงเล่นให้ชาติอื่นอย่างชากิรี่หรือคนอื่นๆ ก็จะยังไม่สามารถลงเล่นให้โคโซโวได้ เนื่องติดข้อบังคับของฟีฟ่าอยู่ แต่เมื่อทีมชาติของพวกเขาได้รับการยอมรับในกีฬาฟุตบอล อาจนำไปการยอมรับถึงเอกราชของพวกเขาในเวทีโลกต่อไป
“ผมคิดว่าประเทศควรได้รับยอมรับในฐานะรัฐ และการได้ยอมรับในกีฬาฟุตบอลก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะกีฬาเป็นทูตที่ดีสำหรับหลายๆ ประเทศ” ลอริค คานา กัปตันทีมชาติอัลเบเนีย อีกหนึ่งนักเตะที่ออกจากโคโซโวเพราะภัยสงคราม กล่าวกับ นิวยอร์กไทม์