พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวเบื้องต้น หลังจากปิดรับลงทะเบียน เมื่อเวลา 24.00 น. วานนี้ (31 มี.ค.61) โดยตัวเลขล่าสุดที่มีการรวบรวมไว้ ณ เวลา 12.00 น. วันนี้ มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ลงทะเบียนที่ศูนย์บริการ OSS และผ่านระบบออนไลน์ รวม 1,304,269 คน จากจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 1,379,252 คน คงเหลือ 74,983 คน
“นายกฯ ขอบคุณนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ให้ความร่วมมือไปลงทะเบียนแสดงตน เพื่อให้สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใส่ใจมาโดยตลอด รวมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทั่วประเทศที่ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการลงทะเบียน”
หลังจากนี้ กระทรวงแรงงานจะรวบรวมรวมรายชื่อและจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด และประมวลผลวางแผนกำหนดสถานที่และวันเวลา เพื่อให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการทุกขั้นตอนให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิ.ย.61 โดยจะส่ง SMS แจ้งไปยังนายจ้างต่อไป
ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ดำเนินการตามกำหนดนั้นจะไม่สามารถอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้ และมีความผิดต้องรับโทษหากฝ่าฝืนกฎหมาย เช่นเดียวกับนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่อยู่ระหว่าง 308 – 330 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งจะช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ในสภาพปัจจุบัน และยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำชับให้กระทรวงแรงงานกำกับดูแลสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงานทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว เพราะเป็นทรัพยากรบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความเจริญเติบโตของประเทศ จึงอยากให้มีความสุข สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ โดยขอให้หมั่นพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
ขณะที่ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MWG ได้ออกแถลงการณ์ด่วน เรียกร้องให้รัฐบาล มีมาตรการเร่งด่วนกรณีแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์ฯตามกำหนด
เนื่องจาก เครือข่ายเห็นว่า กระบวนการดำเนินการพัฒนาสถานะทางกฎหมายให้แก่แรงงานข้ามชาติ ของรัฐบาลไทยนั้น ล้มเหลว และเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า ขาดกระบวนการวางแผนการดำเนินงานขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เห็นได้ว่า โดยคาดการณ์ว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่สามารถเข้ามาดำเนินการที่ศูนย์บริการฯ ได้อีกนับแสนราย ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขที่แรงงานจะต้องเข้าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่ออกโดยกระทรวงแรงงานมีความไม่แน่นอน โดยข้อมูลของข่าวที่อ้างจากกระทรวงแรงงาน มีทั้ง 1.9, 1.6 และ 1.3 ล้านคน ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 รัฐบาลไทยรายงานว่ามีแรงงาน จำนวน 190 คน และนายจ้าง จำนวน 47 ราย ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2561 (พรก.ฯ) ดังที่กล่าวมาย่อมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันถึงผลกระทบโดยตรงจากนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ, ขาดการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ และขาดความรับผิดชอบต่อการบริหารงานราชการและการออกนโยบาย ที่มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายโดยละเลยแง่มุมทางสังคม
หากรัฐบาลไทยไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ล้มเหลวดังกล่าวด้วยการออกมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แทนการดำเนินคดีกับนายจ้างและลูกจ้าง ด้วยเหตุของการไม่สามารถลงทะเบียนการขึ้นทะเบียนตามกำหนด ทางเครือข่ายเล็งเห็นว่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและความโกลาหลของทั้งนายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนไม่ทันจนนำไปสู่การอพยพของแรงงานที่ไม่มีเอกสารจำนวนนับหมื่นคนที่ไปตกค้างอยู่ตามบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 เหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการผลักความรับผิดชอบในเชิงมนุษยธรรมต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของการถูกแสวงหาประโยชน์ของนายหน้าและการค้ามนุษย์บริเวณชายแดน เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นความอัปยศของประเทศไทยต่อประชาคมโลก และตอกย้ำถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยที่มีต่อการป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ในภูมิภาค
อ่านเพิ่มเติม