ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเซาท์แอฟริกาประกาศเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เมืองเคปทาวน์ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ กำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง แต่ผลวิจัยของสหประชาชาติที่รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 พบว่ามีอีกหลายเมืองทั่วโลกที่เสี่ยงกับภาวะขาดแคลนน้ำ

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานอ้างอิงผลวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเมืองต่างๆ กว่า 500 แห่งทั่วโลก พบว่าประชากรราว 1,000 ล้านคนทั่วโลกเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ หรือไม่ก็ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ส่วนประชากรอีกราว 2,700 ล้านคนระบุว่า ในแต่ละปีจะมีช่วงเวลาอย่างน้อย 1 เดือนที่พวกเขาประสบภาวะขาดแคลนน้ำ 

นอกจากนี้ ประชากรโลกจะยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นโดยรวมกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกภายในปี 2573 ส่วนผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนก็จะยิ่งทำให้เกิดความผันผวนต่อฤดูกาลต่างๆ เพิ่มขึ้น หลายประเทศจึงอาจประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำจืดเข้าขั้นรุนแรง

ถึงแม้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกจะประกอบไปด้วยแหล่งน้ำ แต่มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดภาวะขาดแคลนน้ำที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองเคปทาวน์จึงกลายเป็นสัญญาณเตือนว่าหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกก็อาจจะประสบปัญหาเดียวกันนี้ในเวลาอันใกล้ โดย 11 เมืองใหญ่ที่เข้าขั้นเสี่ยงขาดเคลนน้ำ ได้แก่ 

1. เมืองเซาเปาลู บราซิล

เซาเปาลูเป็นเมืองเศรษฐกิจของบราซิล และ 1 ใน 10 ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้เคยประสบปัญหาเดียวกับชาวเมืองเคปทาวน์มาก่อน โดยเมื่อปี 2558 ระดับน้ำในเขื่อนเก็บน้ำลดเหลือต่ำกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ของความจุที่เขื่อนสามารถรองรับได้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการกินและใช้ของประชากรในเมืองราว 21.7 ล้านคน ทำให้เกิดการปล้นชิงน้ำจากรถส่งน้ำที่รัฐบาลให้บริการแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล และการปล้นน้ำเกิดขึ้นบ่อยจนต้องมีตำรวจคุ้มกันรถขนน้ำ

วิกฤตขาดแคลนน้ำในเซาเปาลูกระเตื้องขึ้นเมื่อปี 2559 แต่ระดับน้ำในเขื่อนที่สำรวจล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของความจุเขื่อน ทำให้รัฐบาลเกรงว่าอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นใหม่ในอนาคต 

2. เมืองบังกาลอร์ อินเดีย

รัฐบาลอินเดียส่งเสริมนโยบายพัฒนาเมือง เพื่อให้บังกาลอร์เป็นแหล่งรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ทำให้มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยเพิ่มเติม แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำ ทำให้แม่น้ำและทะเลสาบหลายแห่งของเมืองปนเปื้อนสารเคมีและมลพิษจากการก่อสร้างและโครงการพัฒนา ทำให้ 85 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งน้ำในเมืองไม่สามารถใช้อุปโภคหรือบริโภคได้อย่างที่ควรจะเป็น

3. กรุงปักกิ่ง จีน

ประชากรในกรุงปักกิ่งมีจำนวนประมาณ 20 ล้านคน แต่ปริมาณน้ำสำรองที่มีอยู่ ทำให้ประชากรแต่ละคนสามารถใช้น้ำได้ประมาณ 145 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำดื่มน้ำใช้ที่เหมาะสมต่อประชากร 1 คน อยู่ที่ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งจึงจำต้องใช้น้ำอย่างจำกัดจำเขี่ย และมลพิษทางอากาศที่ปกคลุมในพื้นที่ ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน ส่งผลกระทบให้แหล่งน้ำลดลง

4 กรุงไคโร อียิปต์

แม่น้ำไนล์เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประชากรในกรุงไคโร เพราะคิดเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่กินและใช้ในแต่ละวัน แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำไนล์ปนเปื้อนด้วยของเสียจากบ้านเรือนและการเกษตร ซึ่งไม่ได้มีการบำบัดก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำ ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากการบริโภคน้ำปนเปื้อนในอียิปต์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยูเอ็นระบุว่าอียิปต์อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี 2568 เพราะแหล่งน้ำไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้

000_XF3A1.jpg

5. กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

ประชากรที่อาศัยอยู่ในจาการ์ตามีจำนวนประมาณ 10 ล้านคนในปัจจุบัน และมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงน้ำประปา ส่วนที่เหลือมักจะลักลอบขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ ส่งผลให้จาการ์ตาประสบปัญหาแผ่นดินทรุด และแผ่นดินกว่า 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล และแหล่งน้ำใต้ดินกลายเป็นน้ำกร่อย หรือในกรณีที่ฝนตกลงมา น้ำฝนก็ไม่สามารถซึมลงใต้ดินได้ เพราะผืนดินถูกเปลี่ยนสภาพเป็นถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยางที่ไม่ดูดซับน้ำ กรณีของจาการ์ตาทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าถ้ามีวิกฤตขาดแคลนน้ำจืดเกิดขึ้นในอนาคต ก็ถือเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติ

6. กรุงมอสโก รัสเซีย

1 ใน 3 ของแหล่งน้ำจืดบนโลกอยู่ในรัสเซีย แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในยุคสหภาพโซเวียตทำให้เกิดปัญหามลพิษทั้งในอากาศและแหล่งน้ำ ส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำกินน้ำใช้ในรัสเซียมาจากแหล่งน้ำผิวดิน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคุณภาพน้ำของรัสเซียยอมรับเองว่าบ่อพักน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยได้มาตรฐานในรัสเซีย มีอยู่ประมาณ 35-60 เปอร์เซ็นต์ของบ่อพักน้ำทั่วประเทศ

7. นครอิสตันบูล ตุรกี

จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในตุรกีมีอยู่ประมาณ 14 ล้านคน และปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับการกินและใช้ต่อคนจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำหรับประชากรอิสตันบูลลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอิสตันบูลจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้่ำภายในปี 2573 ถ้าหากว่าปริมาณน้ำสำรองไม่เพิ่มขึ้น

8. กรุงเม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก

ชาวเม็กซิโกประมาณ 21 ล้านคน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่เป็นประจำ โดยประชากร 1 ใน 5 มีน้ำประปาใช้เพียงไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นจะหยุดให้บริการ ขณะที่อีก 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ใช้น้ำประปาได้เพียงครึ่งวัน และรัฐบาลท้องถิ่นต้องส่งน้ำมาจากที่อื่น คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำที่ใช้ในแต่ละวัน แม้ภาครัฐจะเสนอให้มีโครงการบำบัดและรีไซเคิลน้ำ แต่โครงการดังกล่าวยังไม่เริ่ม

ฝนตก.jpg

9. กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ปัจจุบันลอนดอนพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำเทมส์และแม่น้ำลี เพราะถึงแม้ลอนดอนจะขึ้นชื่อเรื่องฝนตกอยู่เป็นประจำและมีสภาพอากาศแปรปรวน แต่ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่ากรุงปารีสและนิวยอร์ก ทำให้ปริมาณน้ำสำรองไม่พียงพอต่อการขยายตัวของจำนวนประชากรและการพัฒนาเมือง ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประเมินว่าปี 2568 กรุงลอนดอนจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำ และในปี 2583 จะประสบภาวะขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง

10. กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น

ฤดูฝนในโตเกียวมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือนต่อปี ทำให้น้ำประปาในโตเกียวต้องพึ่งพิงแหล่งน้ำผิวดินตามธรมชาติ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ หรือน้ำที่ละลายจากหิมะ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเกรงว่าน้ำจะไม่พอ จึงมีแผนพิจารณาก่อสร้างและปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อให้ใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด ส่วนประชากรในโตเกียวได้รับคำแนะนำและขอความร่วมมือให้สำรองน้ำฝนสำหรับใช้ในครัวเรือน เช่นเดียวกับอาคารเอกชนราว 750 แห่ง ได้รับคำสั่งให้มีถังเก็บน้ำฝนและระบบบำบัดน้ำเป็นของตัวเอง

11. เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา

ไมอามีเป็นเมืองชายทะเลซึ่งประสบพายุฝนกระหน่ำเป็นประจำเกือบทุกปี และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้น้ำเค็มปนเปื้อนแหล่งพักน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคของเมือง และแม้ว่าหน่วยงานรัฐบาลในท้องถิ่นจะพยายามหาทางป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรั่วไหลไปปนเปื้อนน้ำจืด ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกครั้งที่เกิดพายุฝนกระหน่ำทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก

000_Nic6309776.jpg

"ทางแก้ปัญหามีมากกว่าหนึ่ง"

เจฟ ดาเบลโค ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยโอไฮโอในสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิกว่า การแก้ปัญหาภัยแล้งไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง เพราะต้องอาศัยการประเมินสภาพอากาศและวิสัยทัศน์ในการกำหนดมาตรการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ดาเบลโคย้ำว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน ทำให้ภัยธรรมชาติมีความแปรปรวนและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนหรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะต้องนำไปใช้ในการประเมินหรือพยากรณ์สถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมการรับมือล่วงหน้า ไม่ใช่รอแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเขายกตัวอย่างหลายเมืองที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมติดต่อกัน ทำให้ฝ่ายบริหารจัดการสั่งให้พร่องน้ำในเขื่อน แต่หลังจากนั้นกลับประสบภาวะฝนแล้งติดต่อกัน ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ 

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะต้องคิดหาแนวทางรับมือกับภัยแล้งที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น เช่น กรณีของเมืองเคปทาวน์ มีการพิจารณาตั้งโรงงานกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล รวมถึงพิจารณาการขุดบ่อน้ำเพิ่ม ควบคู่กับการสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำ รวมถึงต้องป้องกันปัญหามลพิษปนเปื้อนแหล่งน้ำด้วย

อ่านเพิ่มเติม: