วันที่ 9 ธันวาคม กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ปัญหาคอร์รัปชั่นในมุมมองคนไทย” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลโดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205 คน
พบว่า ประชาชนร้อยละ 30.7 นึกถึงข้าราชการ หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ มากที่สุดเมื่อพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น รองลงมาคือ นักการเมือง ร้อยละ 23.3 และการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ติดสินบน ร้อยละ 11.4 กับคำถามว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นใด ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลยในสังคมไทย พบร้อยละ 78.7 เห็นว่าเป็นปัญหาการติดสินบน การจ่ายใต้โต๊ะ รองลงมาร้อยละ 57.5 ปัญหาการฮั้วประมูลในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และร้อยละ 51.1 ปัญหาเกี่ยวกับระบบข้าราชการ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้สังคมไทยยังคงมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่พบว่า ร้อยละ 61.3 เห็นว่าโทษการเอาผิดผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เด็ดขาด รุนแรง รองลงมาร้อยละ 52.1 เห็นว่าระบบราชการยังเหมือนเดิมเปิดโอกาสให้เอื้อทุจริตคอร์รัปชั่น และร้อยละ 49.3 เห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่ล้าสมัย
เมื่อถามว่า อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร ร้อยละ 63.9 อยากให้เอาผิดและลงโทษผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง รองลงมาร้อยละ 45.3 อยากให้ปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และร้อยละ 37.8 อยากให้ปลูกฝังค่านิยมด้านการประกอบอาชีพสุจริต
สำหรับคำถามคิดว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นอย่างไร ร้อยละ 44.9 เห็นว่า แก้ปัญหาได้บ้างแต่ก็กลับมาคอร์รัปชั่นแบบเดิมอีก ขณะที่ร้อยละ 43.4 เห็นว่าไม่มีมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีคอร์รัปชั่นเหมือนเดิม ส่วนร้อยละ 11.7 เห็นว่าแก้ปัญหาจนการคอร์รัปชั่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อถามว่าบทเรียนจากคดีทุจริตจำนำข้าว จะเป็นตัวอย่างทำให้นักการเมืองไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.3 เห็นว่าทำได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 49.7 เห็นว่าทำได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด