นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การให้บริการชำระบิลข้ามธนาคาร ผ่านโครงสร้างพื้นฐานของระบบพร้อมเพย์ เพื่อช่วยให้ผู้ออกบิล มีช่องทางรับชำระเงินแบบข้ามธนาคารได้ โดยไม่ต้องเปิดบัญชีกับทุกธนาคาร จะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป
โดยธุรกิจที่ต้องการออกใบแจ้งหนี้ หรือออกบิล สามารถติดต่อกับธนาคารที่ให้บริการในโครงการนี้ ซึ่งปัจจุบันมี 10 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย เกียรตินาคิน ไทยพาณิชย์ ธนชาต ซิตี้แบงก์ ซูมิโตโม มิตซุยฯ และ มิซูโฮ ส่วนธนาคารออมสิน จะเป็นอีกแห่งที่ให้บริการรับชำระบิลจากประชาชน แต่ไม่ได้มีบริการแก่ธุรกิจผู้ออกบิล
ทั้งนี้ การชำระบิลรูปแบบใหม่ หรือ Bill Payment ที่สามารถทำข้ามธนาคารได้นี้ เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ในโครงการพร้อมเพย์ ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ ธนาคารที่เข้าโครงการ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการชำระบิลสำหรับรายการชำระเงินเพื่อการกุศล ขณะที่ ค่าธรรมเนียมชำระบิลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ATM , Mobile Banking , Internet Banking ต้องไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ และการชำระบิลผ่านสาขาไม่เกิน 20 บาทต่อรายการ
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้เผยแพร่ป้ายชำระเงินผ่าน QR Code ให้กับธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงเทพ และออมสิน ซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกจากการทดสอบและสามารถให้บริการลูกค้าเป็นการทั่วไปได้แล้ว โดยคิวอาร์โค้ดมาตรฐานนี้ จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ชำระเงินทำรายการข้ามธนาคารได้ ตามอัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินบนระบบพร้อมเพย์ อาทิ โอนให้ผู้รับที่มีบัญชีพร้อมเพย์ไม่เกิน 5,000 บาท ไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน เป็นต้น
ส่วนอีก 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารทหารไทย กรุงศรีอยุธยา ธนชาต และ 1 นอนแบงก์ คือ เคทีซี ยังอยู่ในระหว่างทดสอบการให้บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในพื้นที่จำกัด และคาดว่าจะทยอยอนุญาตให้บริการเป็นการทั่วไปได้ในระยะต่อไป
สำหรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดจากการหักเงินจากบัญชีบัตรเครดิต ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ คาดว่า น่าจะเห็นการให้บริการได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2561
ทั้งนี้ ปัจจุบันทีบุคคลธรรมดา ลงทะเบียนพร้อมเพย์ จำนวน 36 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น เลข 13 หลักประจำตัวประชาชน ร้อยละ 70 เลขหมายโทรศัพท์ร้อยละ 30 โดยมีปริมาณการโอนเงินสะสมถึงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 2 แสนล้านบาท และมียอดการโอนเฉลี่ยรายละ 5,000 บาท ขณะที่ยอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์ของนิติบุคคล มีจำนวน 50,000 ราย และการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดบนระบบพร้อมเพย์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ให้เข้าทดสอบเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2560) มีจำนวน 100,000 รายการ
"ก่อนหน้านี้จะเห็นการใช้พร้อมเพย์กระจุกช่วงปลายเดือน แต่ปัจจุบันเริ่มกระจายการใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีอัตราการใช้ขยายตัวรวดเร็วมาก และยอดการโอนเฉลี่ย 5,000 บาทต่อราย สะท้อนการใช้ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย" นางสาวสิริธิดากล่าว
จับมือสิงคโปร์ศึกษาเชื่อมระบบพร้อมเพย์-เพย์นาว
กรณีมีข่าวธนาคารกลางสิงคโปร์ หรือ MAS อ้างว่าจะเชื่อมระบบการโอนเงินเพย์นาว ของสิงคโปร์ กับ พร้อมเพย์ของไทยนั้น
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นปกติที่จะมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ผ่านเอ็มโอยูในระดับอาเซียนเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยระบบโอนเงินของสิงคโปร์ ก็มีลักษณะคล้ายพร้อมเพย์ของไทย ซึ่งการร่วมมือกันก็เพื่อพัฒนาการให้บริการและอำนวยความสะดวกในการโอนเงิน ชำระเงินระหว่างประเทศให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งบุคคลทั่วไปและธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และคาดว่า น่าจะมีความชัดเจนของผลการศึกษาภายในปี 2561
รายงานโดย : อังศุมาลิน บุรุษ