ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงาน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “From Human Genome Project to Precision Medicine and Benefits to Global Health” โดย นพ. อีริค กรีน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ ในสังกัดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Human Genome Research Institute, National Institutes of Health, NHGRI) ว่าโอกาสนี้ คณะนักวิจัยของไทยได้เข้าหารือแนวทางความร่วมมือกับผู้แทนของสหรัฐฯ ในการดำเนินการแผนงานข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย
แผนงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือภายใต้งบประมาณบูรณาการอุตสาหกรรมศักยภาพ ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
นพ. อีริค กรีน
โดยตั้งเป้าในการถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างน้อย 1,200 คน และศึกษาข้อมูลพันธุกรรมผู้ป่วยชาวไทยจำนวน 15,000 คน ภายในปี พ.ศ.2562 พร้อมจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมอ้างอิง ศึกษาพันธุกรรมเสี่ยงต่อโรคต่างๆ และพัฒนาระบบการแปลผลข้อมูลพันธุกรรม นับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการวินิจฉัยป้องกันและรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตามแนวทาง Precision Medicine ยกระดับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย
งานปาฐกถาพิเศษดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องในโอกาสที่ นพ.อีริค กรีน ผู้แทนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา และโครงการจีโนมมนุษย์ เดินทางมารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 26 สาขาการแพทย์ประจำปีนี้
โครงการจีโนมมนุษย์ เป็นโครงการระดับนานาชาติที่ศึกษาจัดทำแผนที่จีโนมของมนุษย์สำเร็จในปี พ.ศ.2546 ก่อให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางชีววิทยาพันธุศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งผลลัพธ์จากโครงการดังกล่าว ได้แก่ ฐานข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ที่นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงและนำไปศึกษาค้นคว้าต่อยอด รวมถึงหาสาเหตุของโรคและ พัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปรับปรุงแนวทางการป้องกันรักษา
โครงการฯ นี้นับเป็นรากฐานสำคัญที่ขับเคลื่อน ให้เกิดการรักษาเฉพาะบุคคล หรือ Precision medicine ด้วยการแพทย์ในปัจจุบัน เช่น การตรวจปัจจัยเสี่ยงพันธุกรรมมะเร็งเต้านม การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการตรวจยีนเพื่อป้องกันการแพ้ยารุนแรง
อ่านเพิ่มเติม: