พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวในการบรรยายหัวข้อ พรรคการเมืองไทย มีอะไรต้องปรับตัวตามกฎหมายใหม่ ว่า ปัญหาอุปสรรคอย่างหนึ่งของการรับรองพรรคการเมืองใหม่ คือ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายใหม่มีความเข้มข้นมาก เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นพรรคที่มีคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของพรรคการเมือง
เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในส่วนของการการเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลนั้น ยืนยันว่าพรรคการเมืองมีเสรีภาพในการหาเสียง แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ประชุมมาแล้ว 3 ครั้งร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. และตำรวจอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยสามารถหาเสียงผ่านโซเชียลได้ ทั้งในไลน์และเฟซบุ๊ก แต่ข้อความที่ใช้ในการหาเสียงจะต้องไม่ข้อต่อกฎหมาย และให้ กกต. สามารควบคุมดูแลได้ โดยพรรคการเมืองจะต้องแจ้งมายัง กกต. ให้รับทราบถึงรูปแบบการหาเสียง ส่วนข้อกังวลว่าพรรคอาจถูกปลอมเฟซบุ๊กหรือไลน์ ใส่ร้ายผู้สมัครรายอื่นได้ กกต. สามารถสืบสวนสอบสวนทางเทคนิก สามารถหาจุดกำเนิดที่โพสต์ข้อความได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เมื่อร่างระเบียบแล้วเสร็จกกต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และสื่อมวลชนอีกรอบหนึ่ง
นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวทางจะสนับสนุนการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยอาจจะซื้อเวลากับสถานีโทรทัศน์ให้พรรคการเมืองแถลงนโยบาย รวมถึงการดีเบตซึ่งอยู่ระหว่างการจัดรูปแบบ พร้อมแจกข้อมูลผู้สมัครในเขตเลือกตั้งไปยังหนังสือแจ้งเจ้าบ้านด้วย รวมถึงแอปพลิเคชันฉลาดเลือก ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถกรอกหมายเลขบัตรประชาชน เพื่อเช็กว่ามีสิทธิเลือกตั้งในเขตใด ลงคะแนนเสียงที่ไหน และ ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนั้นคือใคร
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึง ปัญหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหากับพรรคการเมืองใหม่ หากผู้สมัครสมาชิกพรรค ไม่ได้สังกัดพรรคตามที่กฎหมายกำหนด และหากพรรคใดยังไม่ยื่นจดทะเบียนต่อ กกต. ในวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ทัน เว้นแต่ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค เพราะ กกต. ต้องใช้ระยะเวลา 45-60 วัน โดยจะต้องมีความเป็นพรรคก่อน 26 กันยายน เพื่อให้ทันต่อการส่งผู้สมัครหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
ทั้งนี้ พรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติพัฒนาได้สอบถามถึงความชัดเจนกับ กกต. ถึงการส่งผู้สมัคร ส.ส. ตามคำสั่งที่ 13/2561 ที่พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องตั้งสาขาพรรค และตัวแทนประจำจังหวัด เพียงแต่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเท่านั้น โดยนายแสวง ระบุว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม กกต. และจะออกหนังสือเวียนแจ้งให้ กกต. ทราบ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แสดงความกังวลว่า กกต. รับรองพรรคการเมืองใหม่ของ กกต. ล่าช้า จะกระทบต่อการจัดตั้งพรรค หาสมาชิกพรรค ส่งผู้สมัคร ส.ส. ที่ต้องสังกัดพรรคมาอย่างน้อย 90 วัน จะไม่ทันต่อการเลือกตั้ง และหากเกิดปัญหานี้จริงแล้วต้องแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกข้อบังคับการหาสมาชิกบางข้อ การเลือกตั้งที่จะมาถึงก็จะไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันของประชาชน ขณะนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ได้จดแจ้งชื่อต่อ กกต. และอนุญาตจัดตั้งพรรคแล้ว แต่อีกหลายกลุ่มยังไม่มีการรับรองให้เป็นพรรคการเมืองนั้น
นายปิยบุตรได้ตั้งคำถาม 3 ข้อ คือ 1. หากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 กกต.จะทำให้ทุกพรรคเกิดขึ้นได้ทันหรือไม่ 2. ต่อให้ตั้งพรรคได้ทัน พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่นั้นจะหาสมาชิกได้ทันหรือไม่ และ 3. อุปสรรคจาก คสช. รวมถึงคำสั่งคลายล็อกหรือคำสั่งก่อนหน้านี้ ไม่ได้เอื้อต่อการปฏิบัติงาน และทำให้ กกต. ตอบคำถามเรื่องการหาสมาชิกไม่ได้ เท่ากับให้พรรคการเมืองไปสุ่มเดาเอา หรือไปตายเอาดาบหน้าใช่หรือไม่ เพราะ คสช.ไม่ยอมปลดล็อก แต่เจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมถึง กกต. ต้องการให้มีสมาชิกพรรคจำนวนมาก แต่กลับไม่ให้ไปรณรงค์หาสมาชิกในพื้นที่ แบบนี้การเลือกตั้งจะเสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร
"ผมเชื่อว่าทุกคนในที่นี่พร้อมลงเลือกตั้ง และ กกต. ก็พร้อมจัดการเลือกตั้ง แต่คนไม่พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งคือใครกันแน่ ถึงต้องมาขวางแบบนี้ ผมขอให้ กกต. จี้ให้ คสช. ปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองได้ นอกจากนี้ เรื่องของการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน สรุปว่าจะต้องมีการยื่นหรือไม่ เพราะบางข้อบอกให้ยื่น แต่บางข้อบอกยกเลิก" นายปิยบุตรกล่าว
ขณะที่พรรคการเมืองอื่นเรียกร้องผ่าน กกต. ไปยัง คสช. ให้เร่งปลดล็อกโดยเร็วด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: