วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยา โดยปริมาณฝนรวมปี 2568 จะมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งประเทศไทยตอนบนจะมีฝนชุกกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5–10 ส่วนช่วงครึ่งหลังของฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ แต่เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีความเสี่ยงต่อพายุหมุนเขตร้อน ที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
"ตนได้กำชับศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) กระทรวง พม. ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ รวมถึงหน่วยงาน พม. ในพื้นที่เสี่ยง ที่ดูแลกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการรับมือสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจเกิดขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ตั้งแต่การปรับเพิ่มข้อมูลสำคัญที่จำเป็นเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลกลุ่มเปราะบางระหว่างศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) กระทรวง พม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) , การเชื่อมระบบกลไกการทำงานร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่น เพื่อการปฏิบัติงานที่เข้าใจตรงกัน , การรายงานกลุ่มเสี่ยงจากภัยพิบัติให้กับจังหวัดและกระทรวง พม. รับทราบ เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรในการป้องกัน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว , การซักซ้อมการทำงานในบางพื้นที่ สำหรับรับมือภัยพิบัติ เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ตามแผนที่วางไว้อย่างถูกต้องและแม่นยำ และการประเมินทั้งระบบ เพื่อยกระดับการทำงานในการรับมือภัยพิบัติ เช่น ผู้ประสบภัยต้องมีความรู้ในการจัดการตัวเองหากเกิดภัยพิบัติขึ้นอีก การถอดบทเรียนของจังหวัดและกระทรวง พม. และการจัดทำแผนจัดการทรัพยากรในการป้องกัน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย" นายวราวุธ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม โดยจัดสถานที่พักพิงชั่วคราวในหน่วยงาน พม. และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ระยะที่ 2 การบรรเทาทุกข์ (ขณะเกิดเหตุ) โดยมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและเงินสงเคราะห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และจัดทีมสหวิชาชีพและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ระยะที่ 3 การฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาผู้ประสบภัย (หลังเกิดเหตุ) ในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุมทั้งด้านชีวิต , ที่อยู่อาศัย , อาชีพ และสาธารณประโยชน์ โดยทีม พม. วางแผนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย