ไม่พบผลการค้นหา
'ประชาชาติ' พร้อมพรรคร่วมฝ่ายค้าน-กมธ.กยศ. รับหนังสือเครือข่ายนักศึกษา ค้านดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ กยศ.

วันที่ 8 ธ.ค. 65 เวลา 10.30 น. พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้หู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ... หรือร่าง พ.ร.บ.กยศ. พร้อมด้วย นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2, นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3, นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 และตัวแทน ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมรับหนังสือจากกลุ่มตัวแทนเครือข่ายเยาวชน นิสิต นักศึกษา นำโดย นายกิตติวัฒน์ อึ้งเจริญ เพื่อขอคัดค้านการมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของ กยศ.

โดย กิตติวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบวาระ 3 ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการฯ กำหนดให้เก็บเบี้ยปรับและดอกเบี้ยผู้กู้ ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งแย้งกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นด้วยกับการไม่เก็บดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยต่อมติและความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องการนำการคิดดอกเบี้ยกลับมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 54 วรรคหก บทบัญญัติในหมวด 5 "หน้าที่ของรัฐ" ซึ่งมีนัยสำคัญว่า เป็นการบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติ เป็นภาระผูกพัน โดย กยศ.เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกับกำดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่รัฐต้องจัดเป็นทุนให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ส่วนใหญ่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นพื้นฐาน และบุคคลเหล่านี้เมื่อจบการศึกษามาส่วนใหญ่ต้องเป็นเสาหลักของบ้าน รับภาระการเลี้ยงดูตนเองและสมาชิกในครอบครัว ในบางกรณี จึงไม่สามารถจ่ายได้ตามกำหนดเวลา จนถูกปรับ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการใช้หนี้ของ กยศ. ก็มีความจำเป็นต้องจ่ายเบี้ยปรับก่อน ถึงจ่ายดอกเบี้ย และท้ายสุดจึงจ่ายเงินต้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายเงินก้อนเดียวเพื่อปิดบัญชีได้ ทำให้บางรายไม่สามารถใช้หนี้ กยศ. เพราะเบี้ยปรับสูงถึงครึ่งหนึ่งของเงินต้น หรือสูงกว่าเงินต้น และบางรายประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคง รวมถึงไม่สามารถหางานได้ จึงไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ตรงเวลา ท้ายสุดจึงถูกปรับและค่าปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึงครึ่งหนึ่งของเงินต้น หรือสูงกว่าเงินต้น ด้วยเหตุไม่มีงานทำ ไม่สามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ ตลอดจนเห็นว่าวุฒิสภามีจุดสนใจเพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทวงเงินคืนกลับมาได้ทั้งหมด แต่กลับละเลยสิ่งสำคัญว่า เหตุใดจึงต้องมีกองทุนกู้ยืมดังกล่าว ละเลยต่อสภาพสังคมที่ไม่เป็นธรรม และตอกย้ำความไม่เป็นธรรมนี้ด้วยการคิดดอกเบี้ย

ทางด้าน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กล่าวว่า คณะกมธ. ได้มีการพิจารณา 23 ครั้ง โดยมีการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และได้ข้อสรุปว่าไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ รวมทั้งไม่มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นการส่งเสริม การศึกษาของเด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไป