ไม่พบผลการค้นหา
แม่น้ำปิงเชียงใหม่ถูกสาหร่ายลอยคลุมทึบเป็นวงกว้าง พบเปลี่ยนสี ช่วงแดดจัดเป็นสีส้ม พอแดดร่มเป็นสีเขียว ล่าสุดทีมงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพฯ ม.ราชภัฎเชียงใหม่ ลุยลงพื้นที่เก็บตัวอย่างวิเคราะห์ละเอียด

จากกรณีที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีสาหร่ายสีเขียวจำนวนมากลอยปกคลุมหนาอยู่ทั่วบนผิวน้ำที่แทบจะนิ่งสนิทของแม่น้ำปิง ช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่, สะพานนครพิงค์, สะพานนวรัฐ ไปจนถึงสะพานเหล็ก ในตัวเมืองเชียงใหม่ เบื้องต้นแม้ว่าสาหร่ายดังกล่าวจะยังไม่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นและยังไม่ปรากฏว่ามีปลาหรือสัตว์น้ำลอยตาย แต่ส่งผลต่อทัศนียภาพและก่อให้เกิดทัศนะอุจาด เพราะแม่น้ำปิงถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่และเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คน

ขณะเดียวกันมีความเป็นห่วงว่าหากปล่อยไว้จะเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งจากการสังเกตการณ์ล่าสุดพบว่าในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมือง ยังคงมีสาหร่ายจำนวนมากลอยหนาทึบเต็มลำน้ำ โดยพบว่าในช่วงที่มีแสงแดดจัดสาหร่ายดังกล่าวจะเป็นสีส้มหรือสีน้ำตาล แต่ในช่วงที่ไม่มีแดดสาหร่ายจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว

แม่น้ำปิง.jpg

ทั้งนี้จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำโดยดร.ทัตพร คุณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พันธุ์ ลีฬหเกรียงไกร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมทีมงานได้ลงพื้นที่ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและสาหร่ายดังกล่าวในแม่น้ำปิง 5 จุด ช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่ตำบลสันผีเสื้อไปสิ้นสุดที่ตำบลป่าแดด เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อไป

โดย ดร.ทัตพร เปิดเผยว่า ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและสาหร่ายดังกล่าวในแม่น้ำปิง 5 จุด ช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อนำไปวิเคราะห์ว่าแต่ละจุดปริมาณสาหร่ายมากน้อยอย่างไร ซึ่งหากจุดใดที่มีปริมาณสาหร่ายมากจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ทำให้เชื่อได้ว่าบริเวณจุดนั้นน่าจะมีสารอาหารของสาหร่ายสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดี ซึ่งสารอาหารนั้นอาจจะเป็นของเสียที่ถูกฝนตกแล้วชะล้างจากหน้าดินลงมาหรือการปล่อยลงมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้นำไปสู่การป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังได้ตรงจุด

แม่น้ำปิง.jpg


ขณะเดียวกัน ผอ.ศูนย์ฯ บอกว่า สาหร่ายดังกล่าวนี้ไม่มีพิษหากคนสัมผัสอาจจะเพียงแค่ระคายเคือง แต่การที่มีปริมาณมากเกินไปส่งผลกระทบในแง่ทัศนียภาพและทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำในช่วงเวลากลางคืนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในน้ำที่จะขาดอากาศหายใจ ซึ่งในเวลานี้สาหร่ายดังกล่าวยังไม่ได้ส่งผลกระทบจนถึงขั้นทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย แต่หากไม่มีการควบคุมหรือเฝ้าระวังอาจเกิดปัญหาขึ้นได้  

ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พันธุ์ กล่าว่า การเก็บตัวอย่างน้ำและสาหร่ายดังกล่าวนี้ ทางทีมงานศูนย์ฯ จะทำการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างทั้งด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ และด้านเคมี ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นที่จุดเก็บตัวอย่างพบว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำปิงยังไม่แย่ถึงขั้นเน่าเสีย อย่างไรก็ตามจะต้องนำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการเพื่อหาข้อสรุปและข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อไป คาดว่าน่าจะทราบผลภายใน 1-2 วันนี้

4-6-2563 10-10-23.jpg