วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมาว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ระยะเวลา 9 ปีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมา สามารถผลักดันการก่อสร้างเสร็จ 1 สัญญาในที่สุด จากทั้งหมด 15 สัญญา แม้เป็นระยะทางสั้นมากเพียง 3.5 กิโลเมตรก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาดำเนินการต่อให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้มากกว่านี้
การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการลงทุนเพื่อผลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมครั้งใหญ่ภายใต้โครงการ “สร้างอนาคตไทย 2020” ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมด้วยอีกหลายโครงการ หากขณะนั้นไม่ถูกต่อต้านไปเสียก่อน คนไทยคงได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปตั้งแต่ปี 2563 หรือ 3 ปีที่แล้ว อีกทั้งหากการก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 จะใช้งบประมาณการก่อสร้างเพียง 180,000 ล้านบาท ในระหว่างที่งบประมาณก่อสร้างโครงการเดียวกันในยุคพลเอกประยุทธ์พุ่งขึ้นมาสูงถึง 420,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าเสียโอกาสจากความล่าช้ากว่าเท่าตัว
ชนินทร์ กล่าวว่า ความล่าช้าในการลงทุนยังส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว, การลงทุน และการกระจายความเจริญไปยังต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองรองที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูง ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย จังหวัดเหล่านี้มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดเพิ่มมากถึงปีละ 3% ตามการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่กลับถูกชะลอไปด้วยตามแผนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ช้าลง
“พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันนโยบายด้านคมนาคมเข้าสู่การทำงานของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเดินทาง (Logistics Hub) ของเอเชีย เพื่อขยายศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ” ชนินทร์ กล่าว