นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวให้ความเห็นต่อปัจจัย ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะตัดสินใจ เข้าร่วมรัฐบาลกับฝ่ายไหน ระหว่างฝ่ายสืบทอดอำนาจ กับฝ่ายที่ไม่รับการสืบทอดอำนาจ ซึ่งในท้ายที่สุดจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ
1. "ความชอบธรรม"
ในทาง "รัฐศาสตร์" ความชอบธรรม คือ การที่อำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฏหมายซึ่งใช้บังคับ หรือระบอบการปกครองนั้น ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน
ในทาง "รัฐประศาสนศาสตร์" "ความชอบธรรม" ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1)ยึดหลักนิติธรรม 2)ยึดแนวทางนิติรัฐ 3)มีคุณธรรม 4)มีจริยธรรม 5)มีศีลธรรม และ 6)มีธรรมาภิบาล หากขาดองค์ประกอบข้อใด ข้อหนึ่ง ถือว่า ขาดความชอบธรรม
ในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง จะคำนึงถึงแต่เพียง"กฎหมาย" อย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางห้วงเวลา กฎหมายออกจากฝ่ายที่วางแผนสืบทอดอำนาจ มีสาระผิดเพี้ยนไปจากกติกาตามระบอบประชาธิปไตยที่นานาอารยประเทศถือปฏิบัติกัน เช่น หากให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการสรรหามามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีที่มาจากประชาชน ก็จะได้นายกรัฐมนตรีที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กฎหมายนั้นมีสาระผิดเพี้ยนไปจากกติกาประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหามีความชอบธรรมไม่
"ความชอบธรรม" จะเป็นมโนสำนึกที่วิญญูชนทั่วไปคิดได้ ว่า ระหว่างฝ่ายสืบทอดอำนาจ กับฝ่ายที่ไม่รับการสืบทอดอำนาจ ฝ่ายใดมีความชอบธรรม เฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนมองออก และสะท้อนออกมาแล้วจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับการสืบทอดอำนาจ แม้ฝ่ายสืบทอดอำนาจจะมีการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างมากมายก็ไม่อาจเอาชนะเสียงประชาชนได้
2. ทางออกในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน
ความทุกข์ยากของประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคการเมือง เพราะ ส.ส.มาจากประชาชน ถ้า ส.ส.ไม่ทุกข์ร้อนต่อความทุกข์ยากของประชาชน พรรคการเมืองใดไม่หาทางออกที่ถูกต้อง ชอบธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ ก็จะส่งผลให้พรรคการเมืองนั้น ล่มสลายไปในที่สุด
ในข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ จะเห็นได้ว่า จากการบริหารประเทศในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้รับความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง หนี้สินครัวเรือนเพิ่มพูนขึ้น ๆ จนจำนวนคนจนเพิ่มขึ้นมากมายอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ถ้า ส.ส.คนใด ไม่ได้รับทราบว่าปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวมีจริง ก็ไม่สมควรที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป
ตนเชื่อในสัจธรรม เชื่อในประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมาว่า หลังการรัฐประหารจะมีการตั้งพรรคการเมืองเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ และทุกครั้งที่ผ่านมาพรรคการเมืองเฉพาะกิจนั้น ก็ล่มสลาย ล้มหายตายจากไป ไม่มีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจจะยืนหยัดอยู่ได้เลย เพราะไม่มีความชอบธรรม เพราะประชาชนไม่รับการสืบทอดอำนาจ
ท้ายที่สุดเชื่อว่าในการจัดตั้งรัฐบาลในระยะเวลาอันใกล้นี้ พรรคการเมืองจะยึดปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ดังกล่าวข้างต้น คือ "ความชอบธรรม" และ "ทางออก ทางรอด จากปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน" จากปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะรวมศูนย์อยู่ที่ "การไม่รับการสืบทอดอำนาจ" ตนมั่นใจ