ไม่พบผลการค้นหา
ยะลาเคยมีภาพติดลบไปแล้วว่าเป็นเมืองน่ากลัว ขนาดคนท้องถิ่นอย่างคนเบตงจะเดินทางไปหาดใหญ่ยังไม่กล้าผ่าน ตั้งแต่มีกราฟฟิตี้รูปแรกบนผนัง ชุมชนย่านนี้ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
8.JPG

ถนนนวลสกุลเป็นถนนสายสั้นๆ ในย่านที่เงียบอย่างยิ่ง ทั้งที่อยู่ในตัวเมืองยะลา

“ถ้าเป็นแต่ก่อนหน้านี้นานๆ ทีเราจะได้เห็นรถวิ่งเข้ามาสักคันหนึ่ง” ศุภาภร สุขุมวิทยาบอกเล่าขณะมองชุมชนรอบตัว

เขาบอกว่า ย่านถนนนวลสกุลเป็นพื้นที่ที่มีกิจการเล็กๆ เช่น ร้านตัดกระจก ร้านขายอุปกรณ์ซ่อมรถ บางจุดก็มีร้านรับเชื่อมเหล็ก อาคารส่วนใหญ่เป็นตึกปนไม้ดูเก่าแก่ และจุดที่คึกคักมากที่สุดน่าจะเป็นบริเวณศาลเจ้าและร้านขายข้าวแกง แต่นอกเหนือจากนั้นมันเป็นที่อยู่อาศัย วันอาทิตย์เช่นนี้เราจะได้เห็นแมวบนถนนมากพอๆ กับจำนวนคนที่เดินผ่าน

“มันเป็นชุมชนที่ร้านค้าก็ไม่ค่อยมี เพราะลูกหลานไม่มีใครสืบต่อ ทุกคนย้ายออก ถ้าไม่ย้ายออกก็จะมีคนแก่” ศุภาภรเล่าต่อ 


“อย่าลืมว่าถ้าสถานการณ์มันดี คนก็อยากอยู่บ้าน ยะลาเมื่อ10 ปี 20 ปีที่ผ่านมาเป็นเมืองที่ตีหนึ่ง ตีสอง ขับรถไปข้างนอกยังมีข้าวให้กิน ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันไม่ได้”


7.JPG

สิบกว่าปีมานี้สภาพของเมืองจึงเงียบลง ชุมชนอย่างถนนนวลสกุลก็พลอยนิ่งตามไปด้วย แต่มาวันนี้ชุมชนถนนนวลสกุลกลายเป็นที่แวะเวียนของคนแปลกหน้าเข้ามาอย่างไม่เคยมีมาก่อน คนข้างนอกที่เข้าไปในชุมชนนี้วนกันเข้าไป “เซลฟี” กับภาพกราฟฟิตี้บนผนังตึกและผนังบ้านที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วชุมชน ภาพเด็กตัวกลมป้อมในท่วงท่าต่างๆ กัน ภาพนกขนาดใหญ่สีสรรสดใส และอื่นๆ กลายเป็นจุดดึงดูดผู้คนนับตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมาที่มีการเปิดตัวในงานถนนคนเดิน

11.JPG

“อันนี้เป็นซิกเนเจอร์ของอเล็กซ์ เฟซ์” สิตรีวัลย์ พิมเสนศรี เพื่อนร่วมทีมของคุณศุภากรชี้ไปที่ภาพเด็กหน้ากลม

“เป็นตัวที่บ่งบอกถึงความคิดของเขาที่ว่า การคิดวิตกกังวลไปถึงวันข้างหน้า ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต” เธอเล่าว่าอเล็กซ์ เฟซเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ชาวไทยที่มีผลงานแสดงไปทั่วโลก ภาพที่คุ้นตาจากเขาคือภาพเด็กหน้าบึ้ง แต่ที่ยะลานั้นงานของเขากลายเป็นเด็กยิ้ม

“เขาทำให้ยะลา ด้วยคอนเซ็ปคือยะลาเมืองน่ารัก นอนอยู่ยะลาก็มีความสุข คือนอนก็ยังยิ้ม” นอกจากอเล็กซ์ เฟซแล้วยังมีศิลปินอีกสองรายคือ “มือบอน” และ "October 29" หรือ ฐกฤต ครุฑพุ่ม  

“คือทำยังไงก็ได้ให้ทุกอย่างเป็นกิมมิกของยะลา อย่างของมือบอนก็จะเป็นนกอยู่แล้ว แต่ก็ดึงความเป็นยะลาออกมา ของอเล็กซ์ก็จะเป็นเด็กหน้าบึ้ง ก็ให้ดึงความเป็นยะลาออกมา” สิตรีวัลย์ว่า

5.JPG

จุดเริ่มต้นของการนำงานศิลปะมาประดับชุมชนหนนี้ มาจากผองเพื่อนของสตรีวัลย์และศุภากรที่รู้จักกันตั้งแต่เด็กและล้วนเป็นคนยะลาทั้งสิ้น การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำทำให้พวกเขารู้ว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันคือความรู้สึกอยากให้ยะลาแหวกตนเองออกจากสภาพที่ถูกปิดชนิดมองไม่เห็น จาก “ความเงียบ” และ “ความโดดเดี่ยว” อันเป็นผลของสถานการณ์

“ยะลามันติดภาพลบไปแล้วว่าเป็นเมืองน่ากลัว ขนาดคนท้องถิ่นอย่างคนเบตงจะเดินทางไปหาดใหญ่ยังไม่กล้าผ่านยะลาเลย เป็นประเทศไทยแท้ๆ แต่นี่ต้องผ่านปีนังมาออกหาดใหญ่ มันไม่ได้แล้ว มันเป็นเป้านิ่งเฉยๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องออกมาแสดงอะไรให้เขาเห็นบ้าง” สิตรีวัลย์บอกเล่าความคิดของกลุ่มที่เข้าใจความรู้สึกของคนนอกที่คิดว่ายะลานั้นน่ากลัว

แต่กับพวกเขาที่เป็นคนทำธุรกิจรุ่นใหม่ ยะลาไม่น่ากลัวเช่นนั้น ศุภากรและสิตรีวัลย์และเพื่อนๆ ยังจับกลุ่มสังสรรค์เฮฮากันได้จนดึกดื่นค่อนคืน เมื่อได้รับการกระตุ้นจากเทศบาลยะลา พาณิชย์จังหวัดและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ผลที่ได้คือโปรเจคแรกของกลุ่มเพื่อนพ้องกลุ่มนี้ในนามบริษัท 3AM 2556 ชื่อที่ได้มาจากการที่นั่งคิดงานกันจนเวลาล่วงเลยผ่านเข้าสู่วันใหม่เป็นประจำ

“ฝันไปเรื่อยอยากจะมีกิจกรรมทำร่วมกัน มีร้านอาหาร ไปทานข้าวในร้านเพื่อนแล้วรู้สึกว่าทำไมยะลาไม่มีอะไรให้ทำ ทุกคนมองยะลาน่ากลัว อะไรก็เป็นด้านดำไปหมด เลยคุยกันว่าทำไมไม่ทำอะไรให้มีสีสัน” ศุภากรเล่าที่มา

พวกเขานำเสนอความคิดทำถนนคนเดินโดยเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งของถนนคนเดินก็คืองานกราฟฟิตี้บนผนังบ้านที่ชักชวนศิลปินกราฟฟิตี้จากกรุงเทพฯ ให้ไปร่วมฝากผลงานไว้ในชุมชนถนนนวลสกุลที่ช่วยกันคัดเลือกขึ้นมา ผลงานที่ยังอยู่เลยมาจนถึงปัจจุบันเป็นภาพสีสดขนาดใหญ่หลายภาพ มันกลายเป็นของที่ดึงคนเข้าสู่ชุมชนไม่ขาดสาย ตั้งแต่เด็กๆ วัยรุ่นหนุ่มสาว บางคนก็มากันเป็นครอบครัว

ที่สี่แยกใหญ่ในชุมชนมีภาพเด็กหน้ากลมนอนหลับตาพริ้มกอดนกไว้กับตัว   

10.JPG


“รูปนี้แสดงออกถึงความอบอุ่น ความปลอดภัยของยะลา เราตีโจทย์ยะลา คนภายนอกยะลาว่ายะลาน่ากลัว ไม่กล้ามา อันตราย โดยเหตุการณ์ โจร ระเบิด โน่นนี่นั่น แต่พอทำรูปนี้ปุ๊บ คือหลับนอนแล้วยังยิ้ม” สิตรีวัลย์อธิบาย

โครงการกราฟฟิตี้ในชุมชนถนนนวลสกุลเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเขาในการเปิดพื้นที่ยะลา โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากพาณิชย์จังหวัด เทศบาลนครยะลาและศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. สมาชิกในกลุ่มทั้งหมดล้วนแต่เป็นคนทำธุรกิจรุ่นราวคราวเดียวกัน หลายคนเป็นลูกหลานของคนที่ทำธุรกิจในยะลาที่มาในวันนี้ต้องเข้าแบกรับธุรกิจของครอบครัว การธุรกิจทำให้พวกเขาเห็นโจทย์ที่เป็นผลกระทบของยะลา ว่ากำลังเผชิญผลกระทบจากการที่ถูกตัดขาด ส่วนการจะกระตุ้นเศรษฐกิจที่นี่ต้องพยายามเชื่อมพื้นที่นี้เข้ากับส่วนอื่นๆ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำได้ก็ต้องทลายกำแพงแห่งความหวาดกลัว โครงการนี้นับว่าเป็นก้าวแรกของพวกเขาก็ว่าได้

2.JPG

“ตอนนี้เราอยากทำทุกอย่าง อย่างตรงนี้ก็อยากให้เป็นอาร์ทสเปซ ทุกอย่างไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มันสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนได้ ศิลปะนำพาทุกอย่างได้ เศรษฐกิจคือจุดแรกของเรา สองคือการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของเยาวชน ไม่ต้องอยู่กับน้ำกระท่อมอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นภาพลบหมดเลย” ศุภากรบอกเล่าถึงความฝันของกลุ่ม

โจทย์ใหม่หลังเปิดตัว เมื่อ "คนนอก" มาเยือนเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่มีกราฟฟิตี้รูปแรกบนผนัง ชุมชนย่านนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มี “คนนอก” เข้าสู่พื้นที่ที่เคยปิดพร้อมนำความคึกคักมาให้ และคนในชุมชนตอบรับด้วยดี ศุภากรชี้ว่า อย่างน้อยที่สุดชุมชนก็มีชีวิตชีวามากขึ้น รวมทั้งคนนอกหลายคนที่ไม่เคยรู้จักชุมชนนี้ก็เริ่มรู้จัก

ทว่าอีกด้านการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ทำให้คนในชุมชนต้องปรับตัว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง การมีคนนอกเช่นวัยรุ่นขับขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปถ่ายรูปกราฟฟิตี้และเซลฟีเป็นกลุ่มใหญ่ในยามค่ำคืนแม้เมื่อย่างเข้าวันใหม่ดูจะเป็นสิ่งที่ไปไกลเกินการทลายกำแพงความโดดเดี่ยวไปหนึ่งก้าว ชาวบ้านบางคนเริ่มกริ่งเกรง แม้แต่แม่ค้าขายข้าวแกงในชุมชนก็เอ่ยปากบอกเล่าความวิตกกังวล ส่วนคนทำโครงการเองก็ตระหนักถึงผลดังกล่าว พวกเขาเริ่มทบทวนบทเรียนว่าจะทำอย่างไรให้การเปิดตัวเช่นนี้ไม่ส่งผลลบ เริ่มคิดถึงการมีกติกาการเข้าไปดูกราฟฟิตี้

โจทย์สำหรับพวกเขาจึงไม่ใช่เพียงการทลายความหวาดกลัวของคนนอกเท่านั้น แต่ยังต้องคิดเรื่องการเปิดอย่างไรไม่ให้กระทันหันเกินหน้าความเป็นจริง และที่สำคัญคือยังต้องมีการเปิดทัศนะของ “คนใน” ด้วย ทั้งทัศนะที่จะรับงานของคนรุ่นใหม่และรับบรรดา “คนนอก” ที่จะเข้าไปสัมพันธ์ด้วย ซึ่งประการหลังดูจะเป็นความท้าทายอย่างมากเช่นกัน

“ทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกว่าเราเข้ากับเขาได้ อันนั้นคือโจทย์แรก เพราะเรารู้สึกว่าใครมาทำอะไรหน้าบ้านเรา เราก็กลัว เพราะคนที่นี่เป็นอย่างนี้ มีจังหวัดไหนไหมที่ต้องจอดรถกลางถนน ไม่มี แต่มีที่นี่” ศุภากรว่า

“มันอยู่กันแบบนี้เราก็ต้องอยู่ ปรับตัวกันไปเรื่อย”

6.JPG

อนึ่งสำหรับกลุ่ม 3AM ยังมีสมาชิกคือ คัมภีร์ พงษ์พานิช ภูริพงศ์ พงษ์สุวรรณศิริ ยุพดี เพชรนุกูลเกียรติ อนุกูล ประเทืองวิจิตร ต่อศักดิ์ พงศ์หิรัญ กฤษฎา ณ สงขลา

อ่านเพิ่มเติม :

ขายเสื้อผ้ามือสอง ของถูกไม่พอ ต้องมีเรื่องราวด้วย

รองเท้ารีไซเคิล: เปลี่ยนโลกเริ่มที่ตัวเอง