ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายแรงงานย้ำจุดยืนปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แนะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เลี้ยงชีพเพียงพอคนทำงาน และครอบครัว ขณะที่เอกชน ค้านไม่เห็นด้วยปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ หวั่นกระทบเอสเอ็มอีและภาคเกษตกร 15 ล้านราย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเท่ากันทั้งประเทศ โดยระบุว่า รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมและครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัว

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพราะปัจจุบันค่าจ้างมี 4 ราคา คือ 300, 305, 308 และ 310 สามารถดำรงชีพอยู่คนเดียวได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่

และการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะหากปรับขึ้นเป็นรายจังหวัด จังหวัดไหนไม่มีผู้แทนแรงงาน ก็จะไม่สิทธิ์ได้ขึ้นค่าจ้างเลย ที่สำคัญ ค่าครองชีพแรงงานไม่ว่าที่ต่างจังหวัดหรือในหัวเมืองก็ไม่ต่างกัน ราคาสินค้าก็ไม่ต่างกัน แถมน้ำมันในต่างจังหวัดยังสูงกว่าในเมืองด้วย

ส่วนข้ออ้างที่ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างทำให้สินค้าสูงตามนั้น เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานเป็นทุนไม่ถึงร้อยละ 1 และรัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างให้มีความชัดเจนว่าแต่ละปีจะขึ้นเท่าไร เพื่อแรงงานจะได้รู้อนาคตของตัวเอง และวางแผนชีวิตถูก พร้อมๆ กับการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริงด้วย

 นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า กกร. ได้แถลงเพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับกระแสข่าวที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 2-15 บาทเท่ากันทั่วประเทศซึ่งส่งผลให้สมาชิกกกร.มีความกังวล

โดยกกร.เห็นว่าการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ควรจะปรับขึ้นได้แต่ไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศเพราะแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนาดอุตสาหกรรมและความจำเป็นต่างกันจึงควรให้เป็นการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน เพราะหาไม่สะท้อนข้อเท็จจริงอาจกระทบภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้เอกชนไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าจ้างแต่ขอให้มีการพิจารณาที่เหมาะสมและขอให้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณาเพราะหากปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศหรือขึ้นค่าแรงที่สูงเกินจริงจะมีผลกระทบต่อประชาชนนอกภาคแรงงานที่อาจจะทำให้ค่าครองชีพปรับสูงขึ้นตามไปด้วย และการปรับทั้งประเทศหรือสูงเกินไปอาจกระทบต่อระดับอัตราเงินเดือน ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และข้าราชการ ที่จะกระทบเป็นขั้นบันได

นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงที่เท่ากันทั่วประเทศหรือสูงเกินจริงจะกระทบรอบด้าน โดยปี 2560 ผู้มีงานทำ 37.72 ล้านคน ภาคเกษตร 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต 14.79 ล้านคน ภาคการบริการและการค้า 10.88 ล้านคน นอกจากนี้ ยังเป็นเอสเอ็มอี 3 ล้านราย คาดว่าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น จึงต้องคำนึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและภาคเกษตรน้อยที่สุด

 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 15 บาท จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดในความสามารถที่จะจ่ายค่าแรงได้ แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นแรงงานต่างด้าว

" เราไม่ต้องการเห็นการเข้าไปแทรกแซงการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ โดยเคารพการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และภาครัฐควรผลักดันให้ไทยก้าวสู่ แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงแรงงาน"นายเจนกล่าว