ไม่พบผลการค้นหา
ต้อนรับผู้อ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่ ‘วันสตรีสากล’ (International Women's Day) กำลังใกล้เข้ามา ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ตัดสินใจรวบรวม 6 แฮชแท็กแสดงพลังของผู้หญิงในประเด็นความหลากหลาย ความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ เพื่อฉลองให้กับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี
#WomenNotObjects

#WomenNotObjects หยุดทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุเสียที

ขณะที่บางเอเจนซีเลือกหากินกับการทำโฆษณาเหยียดสีผิวเยี่ยงคนไร้สติ แต่เอเจนซีดังในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ กลับแทงสวนด้วยการทำคลิปวิดีโอความยาว 2.30 นาที ประจานการโฆษณาเหยียดเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #WomenNotObjects ผลิตโดย แบดเจอร์ แอนด์ วินเทอร์ส (Badger & Winters) เพื่อสะท้อนให้เห็นความเสื่อมของอุตสาหกรรมโฆษณาที่ทำให้เพศหญิงเป็นเครื่องมือทางการตลาด 

หากลองค้นหาคำว่า ‘Objectification on Women’ ในกูเกิล คุณจะเห็นภาพโฆษณารถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร ฯลฯ ที่ใช้เรือนร่างผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุบำเรอสายตา โดยเนื้อหาของคลิปวิดีโอโชว์ภาพโฆษณาเหล่านั้นแบบไม่เกรงใจกัน ทำให้มาดอนนา แบดเจอร์ (Madonna Badger) ฝ่ายบริหารงานโฆษณาเอเจนซีดัง และเจ้าของแคมเปญ #WomenNotObjects ออกมาบอกว่า แม้เธอจะรักงานที่ทำ แต่ก็ไม่อยากให้งานของตนเองไปทำร้ายผู้อื่น และต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งให้แก่ผู้หญิงทุกคน


#EffYourBeautyStandard สวยได้ ไม่แคร์ไซส์

เคยตั้งคำถามกันบ้างไหมว่า เพราะเหตุใดนิยามความสวยแบบไทยๆ ต้องขาวใส และผอมแบบเป๊ะเว่อร์ อย่าลืมสิว่า ‘Nobody's Perfect’ ไม่มีใครเพอร์เฟกต์สุดๆ อยู่บนโลกหรอก ดังนั้น แฮชแท็ก #EffYourBeautyStandards จึงเกิดขึ้นในปี 2015 เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงทุกคนหันมารักในเรือนร่างของตัวเอง ทั้งคนอวบอ้วน ขาวดำ เป็นฝ้ากระ ต่างก็สวยแซ่บได้ด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับผู้ริเริ่มแฮชแท็ก #EffYourBeautyStandards คือเทสส์ มันสเตอร์ (Tess Munster) ปัจจุบันเธออายุ 32 ปี เป็นนางแบบเจ้าของหุ่นอวบอัดสุดเซ็กซี่ แต่สมัยวัยเยาว์เธอต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบาก โดนเพื่อนล้อเลียนเรื่องรูปร่างจนต้องลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 17 ปี ทว่ามันสเตอร์ไม่เคยหยุดความฝันที่จะเป็นนางแบบ จนท้ายที่สุดเธอก็กลายเป็นแนวหน้าในวงการแฟชั่นพลัสไซส์ด้วยน้ำหนัก 260 ปอนด์ และยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมเจ้าของแคมเปญ #EffYourBeautyStandards บนอินสตาแกรม ซึ่งรณรงค์ให้ผู้หญิงทุกคนหันมาสร้างทัศนคติที่ดีต่อรูปลักษณ์ของตัวเอง 


#IAmANastyWoman ใช่สิ! ก็ฉันเป็นผู้หญิงน่ารังเกียจ

อีกหนึ่งแฮชแท็กน่าสนใจที่ก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2016 หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าววลีเด็ดโจมตีฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต บนเวทีดีเบตนโยบายทางสังคมในรอบสุดท้ายของการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฯ ว่าเธอเป็น ‘ผู้หญิงน่ารังเกียจ’ (Such a Nasty Woman) จนทำให้โลกต้องปาดไฮไลต์ลงไปบนวลีดังกล่าว กระทั่งเกิดเป็นกระแสพลังหญิงต่อต้านการเหยียดเพศของทรัมป์ และรณรงค์ให้ออกไปลงคะแนนเลือกฮิลลารี พร้อมติดแฮชแท็ก #IAmANastyWoman

ต่อมานักร้องสาว เคที เพร์รี (Katy Perry) ก็เดินสายหาเสียงให้กับฮิลลารีตามสถานศึกษาต่างๆ และใส่เสื้อที่สกรีนข้อความว่า ‘Nasty Woman’ ส่งผลให้ยอดขายเสื้อยืดบนเว็บไซต์ต่างๆ ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นทันที

อย่างไรก็ตาม แม้สุดท้ายฮิลลารีจะพ่ายแพ้ย่อยยับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่องทางการสื่อสารออนไลน์ เป็นเครื่องมือทรงพลังในการจุดประกายความตื่นตัวให้สังคม และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ส่งเสียงเรียกร้อง


#BringBackOurGirls ขอคืนเด็กหญิงไนจีเรีย

หลายคนน่าจะยังพอจำแคมเปญ #BringBackOurGirls กันได้ เพราะมันเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักมาก โดยฝ่ายผู้สนับสนุนแคมเปญระบุว่า #BringBackOurGirls เป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของรากหญ้าประชาคมโลก โดยคนดังจากทั่วโลกพร้อมใจถือป้าย ‘Bring Back Our Girls’ และยังมีอีกหนึ่งวลีฮิตคือ ‘Real Men Don't Buy Girls’ จนกลายเป็นกระแสดังไปทั่วโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้าน และกระตุ้นให้ผู้นำนานาชาติยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กหญิงไนจีเรียมากกว่า 276 คนที่ถูกกลุ่มกบฏอิสลามโบโกฮาราม ลักพาตัวไปเมื่อปี 2014 

ส่วนฝ่ายเห็นต่างกลับมองว่า กระแสการรณรงค์ที่ดูเหมือนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้อำนาจแทรกแซงทางการทหารจะกลายเป็นการทำร้ายประชาชนไนจีเรียในที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้เกิดการรีทวีตในทวิตเตอร์มากถึง 6 ล้านครั้ง แต่มันก็ยังไม่ได้ช่วยให้กลุ่มกบฏอิสลามโบโกฮารามปล่อยตัวเด็กที่ถูกลักพาไป และที่สำคัญ แม้เวลาจะผ่านมาแล้วร่วม 4 ปี แต่ยังมีเด็กสาวอีกมากกว่า 100 คนที่หายตัวไปแบบไม่ทราบชะตากรรม


#MeToo ฉันก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ #MeToo ลุกลามไปทั่วโซเชียลมีเดีย หลังจากนักแสดงสาวเซ็กซี่ โรส แม็คโกแวน (Rose McGowan) ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลี ล่วงละเมิดทางเพศ จากนั้นปรากฏการณ์ไวน์สตีนเอฟเฟกต์ก็เกิดเป็นแรงกระเพื่อมให้ผู้เคยตกเป็นเหยื่อของไวน์สตีนออกมาแสดงตัว ซึ่งนับหัวได้มากกว่า 90 คน

ภายหลังจากที่ดาราฮอลลีวูดทยอยออกมาเปิดเผยเรื่องราวของการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากโปรดิวเซอร์ชื่อดัง จนกลายเป็นขบวนการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ และเหตุการณ์ก็ลามไปยังวงการต่างๆ ทั้งกีฬา การเมือง และการศึกษา 


#TimesUp หมดเวลาของเรื่องเลวร้ายในชีวิตแล้ว

แฮชแท็กใหม่ล่าสุด #TimesUp สืบเนื่องมาจากกระแส #MeToo ทว่าถูกจับตามองมากๆ ในเวทีประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ครั้งที่ 75 เมื่อบรรดานักแสดงฮอลลีวูดพร้อมใจกันออกมาใช้พรมแดงเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต่อสู้กับการคุกคามทางเพศ และไม่จำกัดขอบอยู่แค่เพียงวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นทุกหย่อมหญ้าในสังคม เพราะทุกคนต้องไม่ยอมให้ใครมากดขี่ ล่วงละเมิด และไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเหตุผลของการใช้แฮชแท็กว่า #TimesUp เพราะมันหมดเวลาสำหรับเรื่องเลวร้ายแล้ว

โดยผู้หญิงแวดวงฮอลลีวูดพร้อมใจกันแต่งชุดดำ และติดดอกกุหลาบสีขาว เนื่องจากกุหลาบขาวเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง สันติภาพ การเห็นอกเห็นใจ และการยืดหยัดต่อสู้ ต่อมาได้มีการจัดทำเป็นแคมเปญ #TimesUp เพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ และทางด้านมาร์ก วอห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg) ได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ด้วยการตัดสินใจบริจาคเงินค่าตัวทั้งหมดจากการถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง ‘All the Money in the World’ เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการทำงานของโครงการดังกล่าว ใครสนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการ และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.timesupnow.com