การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ UN General Assembly (UNGA) ครั้งที่ 73 จัดขึ้นที่นครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 193 ประเทศสมาชิกยูเอ็นเข้าร่วม แต่ประเด็นหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก คือ เหตุการณ์ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุม เมื่อวันที่ 25 ก.ย. และถูกตอบโต้ด้วย 'เสียงหัวเราะ' จากผู้เข้าร่วมการประชุม หลังจากเขากล่าวชื่นชมผลงานของตัวเอง โดยระบุว่ารัฐบาลของเขาทำงานมากที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับเกือบทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
หลังจากที่ได้ยินเสียงหัวเราะจากผู้ฟัง ทรัมป์กล่าวว่าเขาไม่คาดคิดว่าจะได้รับปฏิกิริยาตอบกลับเช่นนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร ทั้งยังกล่าวถึงประเทศที่วางตัวเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ต่อไป ทั้งอิหร่าน เวเนซุเอลา ซีเรีย เยเมน และ 'ประเทศอื่นๆ' ที่ทรัมป์ไม่ได้ระบุชื่อ แต่กล่าวถึงในฐานะ 'ผู้แสวงหาประโยชน์' จากสหรัฐฯ ทำให้ผู้แทนรัฐบาลหลายประเทศยังคงหัวเราะกับคำพูดบนเวทีของทรัมป์ต่อไปอีกพักหนึ่ง เช่น กลุ่มตัวแทนจากประเทศเยอรมนีที่หัวเราะเมื่อทรัมป์พูดว่าเยอรมนีต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย
ปฏิกิริยาของผู้นำโลกและตัวแทนรัฐบาลต่างๆ ที่มีต่อทรัมป์ กลายเป็นประเด็นใหญ่ในแวดวงสื่อสหรัฐฯ ซึ่งรายงานว่า 'โลกหัวเราะเยาะทรัมป์' โดยอ้างถึงคำกล่าวในช่วงหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เองในปี 2559 ซึ่งเขาระบุว่า รัฐบาลในขณะนั้น 'อ่อนแอ' และจะทำให้โลก 'หัวเราะเยาะ' สหรัฐฯ แต่สื่อสหรัฐฯ ที่เป็นฝ่ายเสรีนิยมได้รายงานว่า การกล่าวสุนทรพจน์ของทรัมป์ในครั้งนี้ทำให้เขาถูกโลกหัวเราะเยาะเสียเอง
สื่อที่สนับสนุนทรัมป์และพรรครัฐบาลรีพับลิกัน เช่น ฟ็อกซ์นิวส์ เผยแพร่บทความของคอลัมนิสต์ประจำ โดยยืนยันว่า ผู้ที่หัวเราะเยาะทรัมป์ก็คือพวกชนชั้นสูงจากต่างชาติ แม้จะเสียงดังในเวทีโลก แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับพลเมืองชาวอเมริกัน ที่ยังคงมองว่าทรัมป์นั้นเป็นผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ผู้นำประเทศสมาชิกยูเอ็นที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ ไม่ได้มีแค่สมาชิกสหภาพยุโรปหรือจีนที่ทรัมป์ได้ประกาศนโยบายกีดกันทางการค้าไปแล้ว แต่ยังรวมไปถึงประเทศหมู่เกาะๆ เล็กในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เช่น ซามัว ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นผู้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์กับผู้นำจีนและอินเดียอย่างรุนแรง ในฐานะที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสภาพอากาศและสภาวะโลกร้อน
นอกจากเสียงหัวเราะยังมี 'เสียงโห่'
สื่อสหรัฐฯ จะรายงานว่าท���ัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่มีผู้หัวเราะใส่ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์บนเวที UNGA แต่เขาก็ตอบโต้ด้วยการทวีตข้อความยืนยันว่า เขาตั้งใจกล่าวเช่นนั้นเพื่อเรียกเสียงหัวเราะอยู่แล้ว แต่ทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำคนแรกที่ถูกตอบโต้ด้วยเสียงหัวเราะ โห่ฮา หรือเดินออกจากที่ประชุมเพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ แม้ว่าการกระทำเหล่านั้นจะถูกมองเป็นเรื่อง 'ผิดธรรมเนียม' ไปบ้างก็ตาม
ครั้งล่าสุดที่มีการรายงานผ่านสื่อว่าผู้นำประเทศสมาชิกยูเอ็นถูกตอบโต้ในที่ประชุม UNGA คือ กรณีของ 'โรเบิร์ต มูกาเบ' อดีตประธานาธิบดีซิมบับเว ซึ่งขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เมื่อปี 2558 และพูดถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศที่เริ่มก่อตัวขึ้นในซิมบับเว แต่เขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว จึงย้ำว่า คนที่เป็นเกย์ไม่ใช่ชาวแอฟริกา และช่วงหนึ่งของการกล่าวสุนทรพจน์ มูกาเบตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า "พวกเราไม่ใช่เกย์" ทำให้ผู้นำและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมพากันหัวเราะเพื่อตอบโต้ท่าทีขึงขังของมูกาเบ
ขณะที่ 'มูอัมมาร์ กัดดาฟี' อดีตผู้นำเผด็จการผู้ล่วงลับของลิเบีย ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที UNGA ครั้งแรกในรอบ 40 ปีเมื่อเดือน ก.ย. 2552 ได้นำสำเนาของกฎบัตรสหประชาชาติขึ้นไปฉีกบนเวที พร้อมประณามว่าสหประชาชาติล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่สามารถยับยั้งสงครามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกได้ ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่าครึ่งเดินออกจากที่ประชุมเพื่อประท้วงกัดดาฟี
สถิติอื่นๆ ที่น่าจดจำในเวที UNGA
นอกเหนือจากการเสียงหัวเราะ โห่ฮา และการเดินออกจากที่ประชุม ยังมีผู้นำคนอื่นๆ ที่สร้างความทรงจำหรือสถิติแปลกใหม่ในเวที UNGA เช่น 'ฟิเดล กาสโตร' อดีตประธานาธิบดีและผู้นำการปฏิวัติคิวบา ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวที UNGA เมื่อปี 2503 และกลายเป็นผู้นำที่พูดนานที่สุด รวมกว่า 4 ชั่วโมง 30 นาที ขณะที่ปกติแล้วผู้ดำเนินการประชุมจะอนุญาตให้ผู้นำประเทศต่างๆ พูดกันคนละประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมี 'ยัสเซอร์ อาราฟัต' ผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ผู้ล่วงลับ เป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองรายแรกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูเอ็น แต่ได้รับอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์และกล่าวสุนทรพจน์บนเวที UNGA ได้เมื่อปี 2517 โดยอาราฟัตเรียกร้องให้ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลทั่วโลกสนับสนุนกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยเขาเตือนให้ประชาคมโลกเลือก 'ช่อมะกอก' ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ แทนที่จะเลือก 'กระบอกปืน' ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่ากล่าวสุนทรพจน์ได้อย่างกินใจ
เมื่อเดือน ก.ย. 2549 อดีตประธานาธิบดีเวเนซุเอลา 'อูโก ชาเบซ' ขึ้นพูดบนเวที UNGA พร้อมหนังสือของ 'นอม ชอมสกี' นักวิชาการชื่อดังชาวอเมริกัน โดยได้พาดพิงถึงจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ว่าเป็น 'ปีศาจร้าย' และเปรียบเทียบการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของบุชช่วงหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 หรือ 9/11 เป็นความพยายามล่าอาณานิคมยุคใหม่ ซึ่งหลังจากกล่าวจนจบ ชาเบซก็ได้รับเสียงปรบมือสนับสนุนจากกลุ่มผู้นำประเทศแถบละตินอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายและการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนอเมริกันในประเทศที่เกิดสงครามความขัดแย้งต่างๆ
ขณะที่ 'เอโบ โมราเลส' ประธานาธิบดีโบลิเวีย เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนชาเบซ ได้นำใบโคคาขึ้นไปบนเวที UNGA เมื่อปี 2549 เช่นกัน โดยเขาได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกสนับสนุนการปลูกต้นโคคาของชาวนาในละตินอเมริกา แม้ว่าที่จริงแล้วโคคาถือเป็นพืชผิดกฎหมาย เป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่จัดประชุม
เวที UNGA ครั้งที่ 73 มีอะไรใหม่บ้าง?
การประชุม UNGA ครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 73 และมีการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่หลายประการ เช่น ปีนี้เป็นปีแรกที่ตัวแทนประเทศสมาชิกลงมติเลือกประธานการประชุมที่เป็น 'ผู้หญิง' ซึ่งก็คือ มาเรีย เฟอร์นันดา เอสปิโญซา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเอกวาดอร์
ขณะที่ 'จาซินดา อาเดิร์น' นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ก็ได้นำ 'นีฟ เทียราฮา อาเดิร์น เกย์ฟอร์ด' ลูกสาวคนแรกของเธอ วัย 3 เดือน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
(นีฟ เกย์ฟอร์ด ลูกสาววัย 3 เดือนของนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ เป็นทารกคนแรกที่ได้ร่วมประชุม UNGA)
ส่วนวงบอยแบนด์ชายล้วนชื่อดัง อย่าง BTS หรือบังทันบอยส์ ซึ่งเป็นวงที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ เป็นศิลปินกลุ่มแรกจากเกาหลีใต้ที่ได้รับเชิญขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ความยาว 3 นาที ในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) โดยวงบีทีเอสได้เรียกร้องให้วัยรุ่นทั่วโลก 'เป็นตัวของตัวเอง' ซึ่งเป็นการรณรงค์ต่อยอดความร่วมมือระหว่างบีทีเอสและคณะกรรมาธิการยูนิเซฟของเกาหลีใต้ที่ต้องการลดและป้องกันการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน ซึ่งต้องอาศัย 'จิตใจที่เข้มแข็ง' ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว
ส่วนประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้จะรวมถึงการหาแนวทางยุติสงครามความขัดแย้งในซีเรียและเยเมน การต่อสู้และรับมือกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและสภาวะโลกร้อน กระบวนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการส่งชาวโรฮิงญาผู้ลี้ภัยความขัดแย้งกลับไปยังเมียนมา การออกมาตรการคว่ำบาตรประเทศต่างๆ ที่ละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
นอกจากนี้ยังจะรวมถึงการเรียกร้องให้จีนชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ถูกเปิดโปงโดยรายงานล่าสุดของกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่าจีนจับกุมประชากรชาวมุสลิมในประเทศนับล้านคนไปกักตัวและฝึกอบรมในค่ายปรับทัศนคติ ทั้งที่สิทธิในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักกฎหมายสากล
ที่มา: Coconut/ Haaretz/ France 24/ Guardian/ Quartz/ Telegraph/ UN News
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: