ไม่พบผลการค้นหา
ก.ล.ต. แจงประกาศราชกิจจาฯ เรื่อง 11 บริษัทแจ้งยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากนายจ้างประสงค์เปลี่ยนประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากแบบนายจ้างรายเดียว นโยบายลงทุนแบบเดียว ไปเป็น รวมหลายนายจ้าง หลายแผนลงทุน เพื่อความคล่องตัว สร้างทางเลือกให้พนักงาน ยืนยันทั้ง 11 บริษัทยังมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่าย สื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยกรณีประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ความว่าโดยที่มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ของ 11 บริษัท ว่า การประกาศเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวเป็นการเลิกเพื่อโอนย้ายจาก single fund หรือกองทุนที่มีนายจ้างเดียว มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว จดทะเบียนตั้งกองของบริษัทตัวเอง เพื่อย้ายไปสู่ master pooled fund หรือ กองที่มีหลายนายจ้างเข้าร่วมในกองทุน และมีหลายนโยบายการลงทุน ซึ่งบริษัทใดจะเข้าร่วมก็เพียงจดทะเบียนเพิ่มนายจ้างในกองทุนฯ นั้น

โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นความประสงค์ของบริษัทนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างของตน (สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) มีทางเลือกในการลงทุนเพื่อชีวิตวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน

“บริษัทเหล่านั้นยังคงมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงแต่บริษัทได้ย้ายการลงทุนไปยังกองทุนใหม่ที่ใหญ่ขึ้น (หลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน) ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหาร และมีการลงทุนหลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพนักงาน จึงเป็นที่มาของการขอยกเลิกกองทุนเดิม ซึ่งในรอบ 6 เดือน ก.ล.ต.จะรวบรวมแล้วนำมาประกาศแจ้งไม่ใช่การขอยกเลิกพร้อมกัน” นายปริย กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สท. 42/2561 เรื่องการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ความว่าโดยที่มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 กำหนดให้นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในราชกิจจานุเบกษา เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลิกตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ ดังต่อไปนี้ 

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มพนักงานบริษัท ออลเน็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 208/2533 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท จีซีพี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 209/2533 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 257/2533 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

4.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 374/2533 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

5.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที.แอล. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 32/2534 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

6.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อพนักงานบีทีเอ็มยูเดิม ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 81/2537 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

7.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานบริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 158/2540 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

8.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักข่าว เอ.พี. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 99/2541 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561

9.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 390/2533 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561

10.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มโฟร์โมสต์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 56/2536 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561

11.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 15/2541 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561

ประกาศ ณ วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2561 รพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ