รายงานสถานการณ์กาแฟทั่วโลกประจำปี 2560-2561 ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ICO เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าความต้องการบริโภคกาแฟในประเทศต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเปรียบเทียบกับผลสำรวจที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
สำนักข่าวบีบีซีได้รายงานอ้างอิงข้อมูลของ ICO ระบุว่า 10 ประเทศที่บริโภคกาแฟมากที่สุดในโลก ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ กรีซ บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา และเยอรมนี แต่ประเทศที่เป็นต้นตำรับการชงกาแฟสูตรยอดนิยมอย่างอิตาลีหรือฝรั่งเศสไม่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก
ขณะที่ ผู้ปลูกและส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก คือ บราซิล ส่งออกกาแฟในปีที่ผ่านมารวมแล้วกว่า 3,060 ล้านกิโลกรัม ตามด้วยเวียดนาม โคลอมเบีย อินโดนีเซีย ฮอนดูรัส เอธิโอเปีย อินเดีย ยูกันดา เปรู และเม็กซิโก
ส่วนประเทศที่จ่ายค่ากาแฟคั่วแพงที่สุดในโลก คือ อังกฤษ ซึ่งราคากาแฟคั่วโดยเฉลี่ย 450 กรัมจะอยู่ที่ประมาณ 538 บาท ตามด้วยมอลตา อิตาลี ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็ก ลิทัวเนีย และสโลวะเกีย
แม้ว่าเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อผู้บริโภคจะฟ้องร้องต่อศาลประจำรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เพื่อบังคับให้ร้านกาแฟทั่วรัฐระบุคำเตือนบนภาชนะให้ผู้บริโภคทราบว่ากาแฟมีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง 'อะคริลาไมด์' ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในช่วงที่คั่วเมล็ดกาแฟ แต่ผู้เชี่ยวชาญแย้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดๆ ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าสารอะคริลาไมด์ในเมล็ดกาแฟทำให้ผู้ดื่มกาแฟเป็นประจำมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟเลย
นอกจากนี้ การใช้ฉลากเตือนโดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือใช้กับเรื่องที่ไม่ร้ายแรง อาจส่งผลทางจิตใจต่อผู้บริโภค เพราะอาจจะทำให้เกิดความชาชินจนไม่รู้สึกว่าต้องระมัดระวังกับสิ่งที่เป็นภัยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ สารอะคริลาไมด์พบได้ทั่วไปในอาหารทอดด้วยอุณหภูมิสูง เช่น มันฝรั่งทอด รวมถึงยาสูบ แต่ ICO เตือนว่าสิ่งที่ต้องระวังในการปลูกกาแฟ คือการใช้สารเคมีเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้เพาะปลูกด้วย
Photo by Kari Shea on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: