ไม่พบผลการค้นหา
กรมสรรพากรแจงมติ ครม. กรณีบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาลเพิ่มลดหย่อนภาษี ได้ 2 เท่า จากเดิม 1 เท่า เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ชี้สามารถบริจาคได้ทุกโรงพยาบาล ส่วนผู้บริจาคโครงการ "ก้าวคนละก้าว" ได้สิทธิเพิ่มด้วย

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เรื่องมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคแก่โรงพยาบาลนั้น จะมีผลกับการบริจาคแก่ทุกโรงพยาบาลตามที่กฎหมายระบุ

ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า เอื้อให้กับโครงการก้าวคนละก้าว ซึ่งเพิ่งประกาศขยายวันรับบริจาคให้สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 นั้น ยอมรับว่า ผู้บริจาคสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม มาหักลดหย่อนภาษี 2 เท่า ได้

"กรณีที่มีการบริจาคก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ลดหย่อนได้ 1 เท่า ตามกฎหมายเดิม และย้ำว่า การบริจาคสามารถทำได้กับทุกโรงพยาบาล ไม่ใช่เฉพาะ 11 โรงพยาบาลในโครงการ" แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่ ศูนย์สารนิเทศกรมสรรพากร ออกเอกสารชี้แจงเรื่องมาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล ระบุว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล เพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและการคลังของสถานพยาบาล อันจะมีส่วนช่วยให้สถานพยาบาลสามารถให้บริการสาธารณสุขได้อย่างมีคุณภาพ และเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการให้บริการด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ที่ประชุม ครม. จึงเห็นควรกำหนด สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาล โดยมีข้อกำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานพยาบาล ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลอื่นที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้ 

หนึ่ง บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 1 เท่า รวมหักได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

สอง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายเพิ่มอีก 1 เท่า รวมหักได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา 

สาม ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคข้างต้น 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มติ ครม. ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังพิจารณา เรื่องดังกล่าว ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2560 โดยศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร เห็นชอบร่วมกันนำไปสู่การทำหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล        

โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว มีผลสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมสรรพากร ออกแบบระบบ e-Donation รองรับให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่จะบริจาคเงินให้โรงพยาบาลของรัฐต่อไป