องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยรายงานการประเมินผลและผลกระทบจากมลพิษทั่วโลก พบว่าประชากรโลก 9 ใน 10 คน มีฐานะยากจนและอาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง ขณะที่ทุกๆ ปี ประชากรทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนเสียชีวิตมาจากมลพิษทางอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่ารัฐบาลในหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ร้อยละ 57 ของเมืองในทวีปอเมริกา และร้อยละ 61 ของเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป มีค่ามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM10 และ PM2.5 ลดลงในช่วงปี 2010 - 2016 ขณะที่เมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจน จะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด
"หลายเมืองและหลายภูมิภาคสามารถแก้ปัญหาในเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมได้ แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวยังล่าช้าเกินไป ทุกๆ ปีมีประชากรทั่วโลกประมาณ 7 ล้านคนที่เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ และประชากรอีกกว่าร้อยละ 92 ในประเทศที่มีรายได้ต่ำในเอเชียและแอฟริกา รวมไปถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ยุโรปและอเมริกา ยังใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย" โซเฟีย กูมี หนึ่งในทีมวิจัยของWHOกล่าว
สำหรับสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศนั้น ส่วนใหญ่มาจากการใช้รถยนต์ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โรคมะเร็งปอดและโรคปอดเรื้อรัง
ทั้งนี้พบว่าแต่ละปีประชากรในเมืองที่ยากจนกว่า 3.8 ล้านคน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากกิจกรรมภายในบ้านเรือนของตนเอง ซึ่งจะมีการเผาถ่าน เผาไม้ สำหรับปรุงอาหารและให้ความอบอุ่นร่างกาย และกว่าอีก 4.2 ล้านคน เสียชีวิตจากการสูดมลพิษทางอากาศภายนอกบ้าน
ขณะที่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาต่างมีระดับมลพิษทางอากาศที่ต่ำมาก ดร. มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและสุขภาพทางสังคมของ WHO กล่าวว่า ประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองต่ำ จะนำไปสู่การลงทุนที่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีพื้นฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อมและปราศจากการทำร้ายสุขภาพของประชาชนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: