รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก (Global Education Monitoring Report: GEM) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ฉบับล่าสุด ชี้ว่า วิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลกอาจทำให้เม็ดเงินเยียวยาด้านการศึกษาระหว่างปี 2561-2565 หายไปถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 63,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลดลงถึงร้อยละ 12
หากสถานการณ์เป็นไปเช่นการคาดการณ์ดังกล่าวโดยไม่มีแนวนโยบายเพิ่มเติมเข้ามา สนับสนุน ระดับความช่วยเหลือด้านการศึกษาของโลกอาจต้องใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าจะกลับมาเทียบเท่าตัวเลขในปี 2561 ซึ่งเคยขึ้นไปแตะ 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 419,000 ล้านบาท
ปัจจัยหลักของเม็ดเงินช่วยเหลือที่ลดลงเป็นเพราะโควิด-19 เรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งเคยเป็นผู้บริจาคและผู้ให้ความช่วยเหลือรายสำคัญกับประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือมีรายได้ปานกลางค่อนต่ำ ต้องนำเม็ดเงินจำนวนมากออกมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชนและเศรษฐกิจในประเทศตัวเองที่ได้รับความเสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์และแนวนโยบายที่ใช้สู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19
ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าเม็ดเงินเหล่านั้นอาจมีมูลค่าสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 252 ล้านล้านบาท
ด้วยเม็ดเงินจำนวนมากที่ต้องใช้จ่ายออกไปกับวิกฤตตรงหน้า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เม็ดเงินช่วยเหลือด้านการศึกษาจึงอาจไม่ถูกมองว่าเป็นความสำคัญอันดับแรกอีกต่อไป และอาจมีการพิจารณาปรับลด ปรับเลื่อน หรือไม่สนับสนุนโครงการใหม่ๆ
รายงานของยูเนสโก ยกตัวอย่างกรณีเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่มีการประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะปรับตัวติดลบร้อยละ 10.2 ในปี 2563 ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเงินสนับสนุนด้านการศึกษาราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อกลับไปประเมินสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอดีตพบว่า เมื่อครั้งวิกฤตการเงินปี 2550-2551 มีการประเมินว่าเงินสนับสนุนด้านการศึกษา 5 ปี และ 12 ปี หลังจากนั้น ตกลงร้อยละ 18 และ 28 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติที่ไม่มีวิกฤต ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอาจเลวร้ายกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายประเมินว่าผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้จะเลวร้ายกว่าครั้งวิกฤตการเงิน
รายงานดังกล่าว ปิดท้ายถึงความสำคัญของการคงไว้ซึ่งเม็ดเงินช่วยเหลือทางการศึกษาพร้อมๆ กับการจัดสรรความช่วยเหลือในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อไม่ให้ประชากรในวัยศึกษาเล่าเรียนต้องพลาดโอกาสสำคัญในชีวิตและเดินถอยหลังกลับสู่อดีต