ไม่พบผลการค้นหา
สื่อสหรัฐฯ เล่าชะตากรรม 'ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดน' บางรายบอกว่า จากบ้านมาเพื่อที่จะได้ 'ส่งเสียง' แทนประชาชนในประเทศที่ไม่อาจตั้งคำถามต่อคณะรัฐประหารได้ เพราะอาจถูกจับ และบางรายบอกว่า ออกมาเพื่อตั้งหลัก "ทลายการปิดล้อมครอบงำความคิด" ของเผด็จการ

พินิจการณ์ ตุลาชม ผู้สื่อข่าว Voice of America (VOA) ภาคภาษาไทย ประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา รายงานเรื่องราวของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่เดินทางออกนอกประเทศหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยระบุว่า หลังการรัฐประหารครั้งนั้น มีกลุ่มคนไทยจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยการเมืองไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐฯ วีโอเอไทยจึงพาไปติดตามความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ในวาระครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร

จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวและพิธีกรรายการข่าวของไทย ยึดการขับรถอูเบอร์สร้างรายได้หาเลี้ยงชีพในช่วงหลายปีที่ลี้ภัยการเมือง โดยจอมระบุว่า เป็นอาชีพที่ช่วยให้ 'พออยู่ได้' แต่ไม่แนะนำให้ทำเป็นอาชีพหลัก เพราะมีงานอื่นในอเมริกาที่รายได้ดีกว่านี้ถ้าคิดเป็นรายชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เขาพอใจกับอาชีพนี้ เพราะไม่ต้องทำเป็นประจำ จึงสามารถจัดสรรเวลาไปทำรายการข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ได้ และมีเวลาที่จะอัปเดตและทำคลิปข่าวที่เมืองไทย

"ชีวิตพี่ในอเมริกาเอง หลังจากได้ asylum ก็ได้รับความช่วยเหลือในระดับหนึ่งที่จะพอยังชีพอยู่ได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วย เพื่อที่จะได้เอาแรงมาใช้ในการทำงานสื่อ" 

"ถ้าเราทำงานประจำหรือ fixed แบบเช้าไปเย็นกลับ ก็อาจจะพลาดที่จะตามข่าว หรือแม้แต่สัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เมืองไทย หรือแหล่งข่าวในประเทศอื่นๆ เราก็ต้องทำอาชีพนี้ มันยืดหยุ่นที่สุดสำหรับการทำงานสื่อไปด้วย"

วีโอเอไทยรายงานว่า นักข่าวประสบการณ์สูงจากเมืองไทยอย่างจอม ตัดสินใจยุติการทำงานสื่อในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และเดินทางออกนอกประเทศเพื่อปักหลักทำงานสื่อในโลกออนไลน์ ในฐานะ 'สื่อมวลชนอิสระ' ทำงานจากต่างประเทศ ซึ่งเขาเชื่อว่า จะสามารถเปิดพรมแดนการตั้งคำถามและการตรวจสอบได้มากกว่า

"รัฐประหารครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น มันเป็นการประเมินของพี่และหลายคน ประเมินตรงกันว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยมันจะลงลึกกว่าที่เราคิดไว้ มันจะเป็นการดึงประเทศย้อนหลังไปกว่าการปฏิวัติหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยทางการเมือง ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ตัดสินใจว่าชีวิตด้านการเป็นสื่อที่ทำมากว่า 30 ปี อาจจะยุติชั่วคราว แล้วก็อาจจะมาใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศสัก 3-4 เดือนเพื่อตัดสินใจวางแผนว่าชีวิตจะไปต่อไปอย่างไร หลังจากนั้นก็ตัดสินใจมาอยู่ในอเมริกา ขอลี้ภัยในอเมริกา เพิ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา" 

ประยุทธ์ คสช รัฐประหาร Web Cover Template.jpg

"ตอนนี้ชีวิตก็ทำงานสื่อเท่าที่จะทำได้ ผ่านโลกโซเชียล เพื่อที่จะ voice เสียงบางอย่าง เพื่อที่จะมองประเด็นบางอย่างที่คนไทยมองไม่ได้ หรือมองแล้วก็อาจจะถูกดำเนินคดี อะไรอย่างนี้ ซึ่งเราก็ทำหน้าที่นั้นมาตลอด ซึ่งคนไทยหลายกลุ่มเองก็ยังมีความกล้าหาญที่จะพูดในสิ่งที่ทำให้เขาเดือดร้อน หรือสร้างปัญหาให้กับเขา เขามีความกล้าหาญที่จะสู้กับความอยุติธรรมทั้งหลายอยู่เหมือนกัน แต่เขาไม่มีช่องทางที่จะออก เพราะสื่อกระแสหลักมันทำไม่ได้ และบวกกับช่วงเวลาในระยะสามปีที่ผ่านมา สื่อในโลกโซเชียลมันเติบโตมากขึ้น เราก็เป็นช่องทางแรกๆ ที่เปิดประตูให้เขาได้พูด แล้วพอตอนหลังเขาเริ่มมีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องของโลกโซเชียลมากขึ้น ทำให้เขาก็ใช้โซเชียลในการพูดแทนตัวเขาเองได้มากขึ้น"

รายการ 'ไทยวอยซ์' ดำเนินการโดยจอม เพชรประดับ เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์มาได้หลายปี นำเสนอเนื้อหาและสัมภาษณ์บุคคลที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการเมืองไทยที่เป็นอิสระและหาชมไม่ได้ในเมืองไทย โดยจอมระบุว่า งานของเขามีทั้งการใช้ความเป็นสื่อ นำเสนอความคิดความอ่านของคนไทยที่ถูกปิดกั้นเสรีภาพ และในขณะเดียวกันนี้ คนไทยก็ใช้สื่อโซเชียลมากขึ้นในการตั้งคำถาม วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเคยออกมาใช้ชีวิตในการทำงานสื่อในชุมชนไทยที่อเมริกามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่การกลับมาในครั้งนี้ของจอม 'แตกต่าง' และ 'ยาก' ยิ่งกว่าเดิม 

"มันยากครับ เพราะหนึ่ง ต้องบอกว่าเรามาเริ่มที่นี่ในลักษณะที่ติดลบ ติดลบเพราะ หนึ่ง เราโดนคดีมา คดีของผมคือไม่ไปรายงานตัวต่อคณะ คสช. ทีนี้มันเหมือนเป็นผู้ต้องหา เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งเขาอาจจะมองเราเป็นผู้ก่อการร้ายก็ได้นะ แค่คดีไม่ไปรายงานตัวนี่นะ แต่ว่ารัฐบาล คสช.เองพยายามใส่ร้ายพวกเราว่าเป็นคนที่ล้มเจ้า ทำร้ายประเทศชาติ เป็นคนที่เอาประเทศไทยของเราเอาไปประจานกับโลกให้รับรู้ เขาเลยมองเราเป็นลักษณะเหมือนผู้ก่อการร้ายไปด้วยในตัว"

"เพราะฉะนั้นการจะอยู่กับสังคมไทยในสหรัฐอเมริกาเอง มันก็อยู่ด้วยความลำบากนะสำหรับคนไทยที่ยังมีความเชื่อว่าเรายังต้องฟังแต่รัฐบาลเผด็จการน่ะ ก็มองเราเป็นคนร้ายในมุมมองของเขาเหมือนกัน เพราะงั้นในเชิงของการที่จะไปทำงานกับธุรกิจคนไทยมันก็ค่อนข้างยาก เพราะว่าเขาไม่รับ เพราะเขาจะต้องดีลกับประเทศไทยในอีกหลายๆ เรื่อง ในเรื่องของธุรกิจ เพราะงั้นถ้าเขารู้ว่าคนๆ นี้ทำงานอยู่ในธุรกิจของเขา เขาอาจจะกลับเมืองไทยไม่ได้ เขาอาจจะถูกเพ่งเล็ง ธุรกิจเขาอาจเสียหาย อะไรแบบนี้"

"อันที่สองก็คือว่า เขาอาจจะเข้ามาคุยกับเราได้ แต่พอเราจะถ่ายรูป ก็จะ เฮ้ย พี่ไม่ถ่ายกับน้องนะ พี่เข้าใจนะว่าอย่างนี้ เราก็มีความรู้สึกว่าเราเป็นตัวประหลาดที่น่ารังเกียจในสังคมนี้ นี่คือส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่ง คือ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เขาก็ให้กำลังใจและร่วมช่วยเหลือเราให้อยู่ได้ ด้วยหลักการ ด้วยความคิดว่านี่คือการที่จะทำให้สังคมไทยมีความคิดหรือมีมุมมองที่ไม่อยู่ใต้อำนาจเผด็จการเกินไป และก็เห็นงานเรามีคุณค่าในการที่จะได้พูดออกไป ให้เสียงคนไทยได้พูดออกไป"

สุนัย จุลพงศธร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย เป็นอีกคนที่ตัดสินใจเดินทางขอลี้ภัยในสหรัฐฯ หลังการรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน โดยวีโอเอรายงานว่า อดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยคนนี้ ตระเวนขอพักอาศัยตามบ้านของชุมชนในอเมริกาที่ให้การสนับสนุน หมุนเวียนไปตามรัฐต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเขายืนยันว่า เหตุผลการออกนอกประเทศครั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนที่ไม่ยอมรับอำนาจด้วยการรัฐประหาร

"เวลาพักก็พักง่ายๆ บ้านไหนมีห้องหับก็นอนห้องหับ ถ้าไม่มีก็นอนตามโซฟา นอนตามพื้น เราอยู่ต้องไม่รบกวนเขามาก เรื่องอาหารการกิน เขามีอะไรก็กินกับเขา พยายามไม่รบกวนเขามากนะครับ ในที่สุดเราก็ทำให้เราไม่ประมาท ทำให้ฝ่ายเผด็จการ คสช.ไม่รู้ว่าผมอยู่ที่ไหน"

"ผมบอกผมไม่ได้หนีคดีอาญานะ ความผิดของผมมีอย่างเดียว คือ ไม่ไปพบหัวหน้าคณะรัฐประหารเท่านั้นเอง ผมไม่ไปพบหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นความผิด คือคุณประยุทธ์ประกาศคณะปฏิวัติ ให้ผมไปรายงานตัวแล้วผมไม่ไป ดังนั้น การออกมาต่างประเทศไม่ใช่การหนี แต่เป็นการออกมาตั้งหลักสู้กับคุณ ถ้าบอกว่า อ้าว งั้นทำไมไม่สู้ในประเทศ มันก็จับเลย ไม่ต้องพูดเลย ทุกคนถูกจับ แล้วให้ไปเซ็นสัญญา บล็อกทรัพย์สิน บล็อกบัญชี ไม่ให้ทำธุรกรรมทางบัญชี ข่มขู่ว่าถ้าพูดการเมืองแล้วจะเล่นงาน"

ระหว่างการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ สุนัยเป็นผู้ตระเตรียมรายการสดเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ด้วยตนเอง โดยระบุว่า "ต้องทำได้ทุกอย่าง" ตั้งแต่การติดตั้งฉากสตูดิโอชั่วคราว ไปจนถึงเปิดประเด็นสนทนาการเมืองผ่านกล้องโทรศัพท์กับผู้ติดตามบนโลกออนไลน์หลายหมื่นคนเป็นประจำ หลายวันต่อสัปดาห์ 

AFPเลือกตั้ง.jpg

"เราก็รู้ทิศทางว่าการต่อสู้กับเผด็จการนั้น ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อที่ไม่ให้เผด็จการปิดล้อมครอบงำความคิดของประชาชนได้ ผมก็ออกมา แล้วมาจัดรายการ เห็นมั้ยฮะ เพราะไอ้กระแสสื่อเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้มันเข้าไป ผมบอกว่าสัญญาณผมไม่แรงแล้วครับ รายการผมเนี่ย แต่ที่มันแรงคือความถูกต้อง ความไม่ถูกต้องของคุณประยุทธ์น่ะเป็นเงื่อนไขให้สัญญาณโทรทัศน์ของสุนัยแรงขึ้น"

เมื่อถามถึงการกลับเข้าสู่กติกาประชาธิปไตยด้วยการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังการรัฐประหาร ผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ ทั้งสองคนมองว่า ยังไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ตัดสินใจกลับไปบ้านได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขามองว่า เงื่อนไขสำคัญด้านความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง 'ยังไม่เกิดขึ้น' ในขณะนี้

"ยังไม่ใช่ตอนนี้ เงื่อนไข ภาวะวิสัย อุณหภูมิตอนนี้ ยังไม่พร้อมที่จะให้ไปสู้ในประเทศ" สุนัยกล่าว "ยังไปไม่ได้ครับ ต้องดูสถานการณ์ก่อน จนกระทั่งสังคมเริ่มเข้าสู่กฎเกณฑ์ เราก็จะเข้าไปสู่การต่อสู้ต่อไป"

ขณะที่จอม ระบุว่า "ผมลี้ภัยการเมืองมาเพื่ออะไร มาเพื่อเป็นเสียงให้กับประชาชน สู้ให้กับประชาชนไทยได้คิด ได้มุมมอง มุมที่ต่างจากที่รัฐบาลทหารต้องการจะควบคุม เพราะงั้นถ้าถามว่า ถ้าผมไม่มา ผมจะไม่ทำเรื่องนี้ มาแล้วผมก็ทำอาชีพปักหลักอยู่ในประเทศนี้ไป ไม่ดีกว่าหรือ ผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นผมจะมาทำไม ใช่ไหม อยู่ประเทศไทยผมก็มีโอกาสที่จะทำอะไรได้เยอะ ปักหลักชีวิตได้เร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ

ทุกคนที่ลี้ภัยกันมา มาเพื่อที่จะสู้ อย่างทีนี้คนในลาวเนี่ย เขามาเพื่อจะสู้ ทีนี้คนก็บอก เฮ้ย ก็คุณไม่ปลอดภัย ถ้าคุณสู้แล้วคุณไม่ปลอดภัย คุณอาจจะถูกอุ้มฆ่า คุณจะสู้ทำไม ก็ไม่รู้แหละ ก็ต้องสู้ต่อ ซึ่งอันนี้ ผมก็นำเสนอเรื่องพวกนี้ให้คนได้เห็น ว่า โอ้โห คนประเทศนี้ลำบากกว่าเรา เราเองอยู่ในจุดที่พอจะสู้ได้ เพราะมันมีการซัพพอร์ตด้วยส่วนหนึ่ง แล้วเราอยู่ในบรรยากาศของประเทศที่ได้รับการปกป้องในเรื่องของเสรีภาพ ในเรื่องของสิทธิในระดับหนึ่ง เพราะงั้นมันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตหรือความลำบากอะไรที่ว่านี้ มันก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น"

วีโอเอไทย ทิ้งท้ายว่า 'จอม เพ็ชรประดับ' และ 'สุนัย จุลพงศธร' เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเดินทางลี้ภัยการเมืองในต่างแดน ช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 แม้ในบางประเทศจะให้การรับรองสถานะ ให้ผู้ลี้ภัยพำนักได้อย่างถูกต้อง แต่อีกหลายประเทศไม่อาจรับรองสถานะใดๆ ให้ผู้ลี้ภัยที่เห็นต่างทางการเมืองจากประเทศไทยได้ และคนกลุ่มนั้นต้องเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: