วันที่ 12 เม.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะ กรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมของคณะ กมธ. ซึ่งได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนจำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
1. การทำสัญญาซื้อขายน้ำระหว่างการประปาส่วนภูมิภาคกับบริษัทเอกชนโดยไม่มีใบสัญญาสัมปทานซึ่งคณะ กมธ. ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตและ จ.พังงา พบว่าหลายบริษัทไม่มีสัญญาสัมปทานจริง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตนจะนำมาเป็นข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
2. การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีการล้มการประมูลไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และล่าสุดจะมีการนำขึ้นมาเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง แต่ยังมีคดีความที่น่าสนใจที่ต้องพิจารณาต่อว่าหากทำการเปิดประมูลใหม่และมีการฟ้องร้องคดีอีก รัฐ หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะสามารถเปิดเดินรถได้หรือไม่ จึงได้เชิญประธานบอร์ด รฟม.และผู้ว่า รฟม. เข้าร่วมประชุม ซึ่งคณะ กมธ. มีข้อเสนอแนะให้ รฟม. ทบทวนและตรวจสอบอย่างความรอบคอบเพื่อไม่ให้ประเทศได้รับความเสียหายมากไปกว่านี้
เพราะ คณะ กมธ. ได้สอบถามไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ชี้แจงว่าหากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในปี 2568 ประเทศจะเสียเงินกว่า 42,000 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อประชาชนที่ลงทุนซื้อคอนโดตามแนวรถไฟฟ้าอย่างไร
3. การควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True กับ Dtac ซึ่งคณะ กมธ. พิจารณาแล้วได้มีข้อสังเกตว่า การควบรวมดังกล่าวมีเงินกองทุนของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้วจะสามารถดำเนินการควบรวมได้หรือไม่
4. เรื่องท่อแก๊สของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระเบิดเมื่อปี 2563 ที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่ง ปตท. ต้องชี้แจงเป็นเอกสารว่า ระยะทาง 4,000 กิโลเมตร บนแผ่นดินไทยนั้นจะมีความปลอดภัยเพียงใด และจะมีการดำเนินการในรูปแบบใด อย่างไร ต่อไป โดยยังหาเหตุผลชี้แจงกรณีการระเบิดของท่อแก๊สไม่ได้ ซึ่งคณะ กมธ.และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
สำหรับการขอเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านนั้น จากเดิมฝ่ายค้านจะยื่นขอเปิดอภิปรายในช่วงเปิดสมัยประชุมหลังจากวันที่ 22 พ.ค. 65 แต่ฝ่ายค้านอาจยื่นล่าช้ากว่ากำหนดไม่เกิน 15 วัน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กำชับไปยังประธานคณะ กมธ.สามัญของพรรคเพื่อไทยทั้ง 10 คณะให้ช่วยรวบรวมและสรุปข้อมูลสำคัญเพื่อนำสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับความแม่นยำของข้อมูลที่จะนำมาอภิปราย
ขณะที่ จิรายุ ยืนยันว่า ข้อมูลที่ตนมีนั้นแม่นยำ โดยจะอภิปรายอย่างน้อย 3 กระทรวง และอีก 4 รัฐมนตรี มีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าทำงานในฐานะฝ่ายค้านเพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่