วันนี้ (23 ก.ค.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานเปิดงานโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านการทุจริตศึกษา โดยระบุตอนหนึ่งว่า ดัชนีการรับรู้ด้านทุจริต หรือ CPI ปี 2559 และปี 2560 อยู่ลำดับที่ 101 และ 96 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลและถือเป็นสถานการณ์ของการทุจริตที่อยู่ในระดับสูงจึงต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของที่มาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรม การไม่ทนต่อการทุจริต การต่อต้านการทุจริต โดยบูรณาการผ่านสถาบันการศึกษา
พล.ต.อ.วัชรพล ระบุว่า จะนำหลักสูตรการต้านทุจริตศึกษาสอดแทรกเข้าไปในระหว่างการศึกษา 5 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรอุดมศึกษา หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. บุคลากรภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และหลักสูตรโค้ช ซึ่งหลักสูตรทั้งหมด ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปบังคับใช้ในสถาบันการศึกษา ผลักดันให้เป็นรูปธรรม
พล.ต.อ.วัชรพล ระบุเพิ่มเติมว่า ภายในปี 2564 ป.ป.ช. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการทุจริตเพิ่มคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI ให้ถึงร้อยละ50 ตามยุทธศาสตร์ ป.ป.ช.ระยะที่สาม สําหรับ ปัญหาการทุจริตที่น่ากังวล ยังเป��นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง จากการสำรวจของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า เงินลงทุนมหาศาล สูญเสียไปกับการทุจริต ปีละนับแสนล้านบาท จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ ป.ป.ช.ต้องเน้น การป้องกันการทุจริตมากขึ้น
ประธาน ป.ป.ช.ย้ำด้วยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีความเข้มงวดมากขึ้น จึงหวังจะเห็นนักการเมือง พรรคการเมือง ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต และหวังว่านโยบายของฝ่ายการเมืองในอนาคต จะไม่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติโดยรวม สำหรับการกำกับ นโยบาย ตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.จะมีอำนาจเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆผ่านทางคณะรัฐมนตรีว่าการดำเนินการมีความเหมาะสม หรือสร้างความเสียหายหรือไม่ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ จะต้องชี้แจงกลับมาภายใน 90 วัน
เช่นเดียวกับ การสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ป.ป.ช. สามารถใช้มติ 2 ใน 3 เตือนไปยังหน่วยงานรัฐ หรือฝ่ายการเมือง ว่าการดำเนินนโยบายอาจสร้างความเสียหาย ดังนั้นบุคคลที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: