ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2018 นี้มีเทรนด์ที่กำลังมาแรงสำหรับการจัดการเลือกตั้งในหลายประเทศ นั่นคือ การจัดการเลือกตั้งให้มั่นใจว่ารัฐบาล (เผด็จการ) จะชนะการเลือกตั้งแน่นอน

การจัดการเลือกตั้งอาจไม่น่าตื่นเต้นนักสำหรับรัฐบาลของประเทศต่างๆ แต่การจัดการเลือกตั้งให้ตัวเองได้กลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งในประเทศที่มีกระบวนการประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง พรรครัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนเห็นผลงานที่ตัวเองเคยทำมา และต้องโน้มน้าวประชาชนว่าอนาคตของพวกเขาจะดีขึ้นไปอีกจากนโยบายของตัวเอง อีกทั้งยังต้องขับเคี่ยวฟาดฟันกับพรรคคู่แข่งอย่างจริงจังด้วย

แต่สำหรับประเทศอย่างอียิปต์ เวเนซุเอลา และกัมพูชาที่มีผู้นำ 'อำนาจนิยม' วิธีการที่จะทำให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งได้ก็คือ "การทำให้ไม่มีคู่แข่ง"

อียิปต์

อับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี

นายอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์ผู้เคยก่อรัฐประหารมาก่อน ได้ประกาศชัยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เนื่องจากคู่แข่งคนเดียวของเขาก็คือ มูซา มอสตาฟา มูซา ผู้สมัครจากพรรคเล็กที่มีนโยบายสนับสนุนนายเอลซีซีเป็นประธานาธิบดีอยู่แล้ว

ผลการนับคะแนนเบื้องต้นระบุว่ามีชาวอียิปต์ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันร้อยละ 42 น้อยลงจากคราวก่อน โดยนายเอล-ซีซีได้คะแนนเสียงอยละ 92 ก่อนตัวเลขจะเปลี่ยนในวันศุกร์ที่ผ่านมา (30 เม.ย.) เป็นร้อยละ 96.9 เท่ากับที่เขาเคยได้ในการเลือกตั้งปี 2014 ส่วนนายมูซาตอนแรกได้คะแนนเสียงร้อยละ 3.1 และการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีบัตรเสียเลยจนน่าประหลาดใจ

การเลือกตั้งครั้งนี้จัดขึ้นโดยที่ไม่มีการดีเบตถกเถียงกันในเวทีสาธารณะ นายเอล-ซีซีปราบปรามผู้เห็นต่างทั้งหมด กีดกันไม่ให้คู่แข่งคนสำคัญ 5 คนสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ เพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งในครองตำแหน่งในสมัยที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ แกนนำฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยได้ร่วมกันรณรงค์ให้บอยคอตการเลือกตั้ง แต่ไม่นาน อัยการก็ยื่นฟ้องพวกเขาในข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาล บางคนถูกจับกุม และขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้าย

นอกจากจะปราบฝ่ายตรงข้ามแล้ว เขายังสกัดดาวรุ่งคนที่เคยเป็นพวกเดียวกันด้วย เขาจำกัดอำนาจคนใกล้ชิด ปรับครม. ปลดผู้บัญชาการทหาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคง รวมถึงหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงและผู้อำนวยหน่วยข่าวกรองด้วย นอกจากนี้ อดีตผู้บัญชาการทหารก็ถูกจับกุมไปขังในคุกทหาร หลังจากประกาศว่าเขาสนใจที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายสนับสนุนนายเอล-ซีซียังเรียกร้องให้มีการลงประชามติแก้ไขกฎหมายยืดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งใน 1 สมัยให้นานกว่า 4 ปี และยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งอาจทำให้ชาวอียิปต์ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหันมาต่อต้านรัฐบาลนายเอล-ซีซี ขึ้นมา

เวเนซุเอลา

นิโกลัส มาดูโร

นายนิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา อาจไม่ได้ปราบปรามคู่แข่งอย่างราบคาบเหมือนอย่างในอียิปต์ แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะถึงนี้ก็มีแนวโน้มสูงว่าเขาจะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีต่ออีก 6 ปี แม้ว่าช่วงปีที่ผ่านมา ความนิยมในตัวนายมาดูโรจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ

ที่ผ่านมา นายมาดูโรพยายามหาทางทำให้พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอจนไม่สามารถมาแข่งกับพรรคสังคมนิยมของตนเองมาโดยตลอด เช่น การคุมขังนายลีโอโปลโด โลเปซ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมสูงมาก การแบนพรรคฝ่ายค้านต่างๆ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมารับรองนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อลดอำนาจของรัฐสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากอยู่ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มักเอื้อประโยชน์ให้พรรครัฐบาลด้วย

ในการเลือกตั้งวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอีก 5 คนยังดูไม่โดดเด่นพอจะเอาชนะนายมาดูโรได้ เพราะ 4 คนมีความสัมพันธ์อันดีกับนายมาดูโรอยู่แล้ว ทำให้มีผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านจริงๆ เพียง 1 คนเท่านั้น ขณะที่พรรคฝ่ายค้านใหญ่ 2 พรรคประกาศบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

นายอองรี ฟอลคอน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพียงคนเดียวที่ลงสมัครเองก็ถูกพรรคฝ่ายค้านใหญ่อีก 2 พรรคโจมตีว่าเป็นคนสองหน้า เพราะเขาก็เคยร่วมคณะรัฐประหารของนายอูโก ชาเบซ อดีตประธานิบดีเวเนซุเอลา และยังมีหน้าที่จับกุมผู้เห็นต่างและผู้ประท้วงพรรคสังคมนิยมมากว่าสิบปี ขณะที่ฐานเสียงเดิมของนายมาดูโรมักเป็นคนยากจนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐ เกือบทั้งหมดก็มองว่าแผนเศรษฐกิจของฝ่ายค้านยังดูไม่น่าสนใจมากพอ แต่หากพวกเขาเสี่ยงไปเลือกพรรคฝ่ายค้าน พวกเขาอาจถูกรัฐบาลนายมาดูโรตัดลดสวัสดิการที่มีอยู่

นอกจากนี้ แทนที่จะปลดคนในกองทัพเหมือนในอียิปต์ มาดูโรเลือกใช้วิธีตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพให้ไปนั่งเก้าอี้สำคัญๆ ในบริษัทน้ำมันของรัฐแทน ทำให้กองทัพสามารถควบคุมการส่งออกน้ำมันของประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับความจงรักภักดีต่อนายมาดูโร


กัมพูชา

ฮุนเซน

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็มีความชำนาญในการเลือกตั้งให้พรรครัฐบาลชนะมากว่า 30 ปีแล้ว แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค.นี้ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปราบปรามผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในกัมพูชาอย่างครบวงจร

เมื่อปลายปี 2017 ศาลกัมพูชาตัดสินยุบพรรคพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ CNRP พรรคฝ่ายค้านที่เป็นคู่แข่งสมน้ำสมเนื้อที่สุดกับพรรครัฐบาล และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของสมาชิกอาวุโสของพรรค CNRP จำนวน 118 คนเป็นเวลา 5 ปี หลังพรรครัฐบาลยื่นฟ้องว่า พรรค CNRP วางแผนโค่นล้มรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ นายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรค CNRP ก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏและสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ โค่นล้มรัฐบาล

แม้ 45 ประเทศทั่วโลกจะกดดันให้นายฮุนเซนคืนสถานะพรรคการเมืองให้พรรค CNRP และอภัยโทษให้นายเกิม รวมถึงนิรโทษกรรมให้นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส และเจรจากับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ฮุน เซน ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาจะไม่เจรจากับพรรค CNRP โดยเด็ดขาด และจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งอีกด้วย

นอกจากจะเล่นงานพรรคฝ่ายค้านแล้ว ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้ไล่ปราบปรามองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ทั้งสำนักข่าวและเอ็นจีโอต่างๆ ที่มักวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่ดินโดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบในประเทศ มีการเก็บภาษีย้อนหลังสำนักข่าวเก่าแก่จนต้องปิดตัวลง และผู้สื่อข่าวต่างๆ ต้องต่อบัตรผู้สื่อข่าวกับรัฐบาลทุกปี หากใครวิจารณ์รัฐบาลบ่อย ก็จะไม่ได้ต่อบัตร

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภากัมพูชาเพิ่งผ่านร่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ โดยผู้ที่กระทำการใดๆ ที่ถูกตีความว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์กัมพูชา ต้องโทษจำคุก1-5 ปี และปรับ 15,000-78,000 บาท ซึ่งกฎหมายนี้ถูกวิจารณ์ว่าอาจถูกใช้เพื่อเล่นงานผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ กฎหมายนี้ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะระบุว่าห้ามหมิ่นราชวงศ์กัมพูชาทั้งหมด ซึ่งไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ใครที่ถูกนับเป็นราชวงศ์กัมพูชาบ้าง และคนที่ได้รับพระราชทานยศจะนับเป็นราชวงศ์หรือไม่ เช่น คนที่มียศขึ้นต้นด้วย 'สมเด็จฯ' อย่างฮุน เซน และรัฐมนตรีอีกหลายคน หรือ ยศ 'ออกญา' ที่มีอยู่มากกว่า 700 คน และในจำนวนนี้ก็เป็นคนชนชั้นนำที่บริจาคเงินให้กับรัฐ

อ่านเพิ่มเติม: